พิษข้อความส่งต่อ อ่านง่าย ส่งไว ภัยร้ายใกล้มือที่คุณอาจไม่รู้ตัว

2.2K



พิษข้อความส่งต่อ อ่านง่าย ส่งไว ภัยร้ายใกล้มือที่คุณอาจไม่รู้ตัว

 
พิษข้อความส่งต่อ อ่านง่าย ส่งไว ภัยร้ายใกล้มือที่คุณอาจไม่รู้ตัว
 

 

เดือนนี้เป็นเดือนพิเศษ มี 5 ศุกร์ 5 เสาร์ 5 อาทิตย์ 888 ปีจะมีครั้ง เรียกว่าถุงเงิน
ตามตำราฮวงจุ้ยส่งต่อ 5คน จะโชคดี

ล่าง 88 04 31 22 วันเกิดหลวงปู่ ส่งต่อให้ครบ 9 คน ห้ามเก็บไว้แล้วชีวิตจะดีขึ้น มั่งมีศรีสุข

ขอโทษนะ เราโดนมาเหมือนกัน คือว่าในโรงเรียนมีเด็กหญิงถูกฆ่า เมื่อคุณรับรู้เรื่องราวของเขาแล้วไม่ยอมส่งต่อให้ครบ 20 คน ภายใน 7 วัน คุณจะต้องมีอันเป็นไป

การถอดร่าง............คำเตือน ผู้ใดที่อ่านแล้วต้องนำไปโพสต์ต่ออีก 5 ครั้งไม่งั้นอีก 7 วันต่อไปคุณจะมีอันเป็นไปมีเรื่องของการถอดวิญญาณเพื่อออกจากร่างและคุณจะไปได้ทุกที่ๆ ต้องการ

เราเชื่อว่าคุณเคยเจอ!

ข้อความต่างๆ ที่ได้ยกตัวอย่างมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอีกหลายข้อความที่มีการแชร์ต่อๆ กันบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอพพลิเคชั่นไลน์ ผู้ใช้งานบางกลุ่มก็เลือกที่จะส่งต่อเพื่อความสบายใจ เพราะฉันยังไม่อยากตายบ้างล่ะ ฉันอยากรวยบ้างล่ะ ในขณะที่ ผู้ใช้งานอีกกลุ่มหนึ่งก็รู้สึกรำคาญข้อความเหล่านี้ อยู่ดีๆ ก็มาแช่งกันซะอย่างนั้น

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอเปิดปฐมบทข้อความลูกโซ่ ทั้งในอีเมล์ โซเชียลมีเดีย คนแรกที่คิดริเริ่มส่งต่อๆ เขาทำไปเพื่ออะไร เขาได้อะไร และจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อะไรที่คุณสงสัยคุณจะได้คำตอบ…

 
ปัจจุบันเมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตหลายๆ คน
ปัจจุบันเมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตหลายๆ คน
 


4 สไตล์ ข้อความลูกโซ่ลวง!?

นายปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า วิธีการ Hoax หรือ ข่าวลวง เป็นการส่งข้อความต่อๆ กัน เหมือนจดหมายลูกโซ่เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด โดยอาจจะใช้เทคนิคทางจิตวิทยาร่วมด้วยเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ นายปริญญา ยังได้แบ่งประเภทของข้อความลูกโซ่ลวง ตามกิเลสของมนุษย์ไว้ 4 ประเภท ดังนี้

1. สไตล์ความโลภ เช่น คุณได้รางวัล... คุณเป็นผู้โชคดีได้รับของ... ถ้าส่งต่อคุณจะมีโชคดีตลอดทั้งปี เป็นต้น แต่เมื่อติดต่อกลับไปได้บอกว่าให้โอนเงินไปให้ก่อน 5,000 บาท จึงจะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท หรือบางครั้งเป็นการแฝงโปรโมตโฆษณาต่อๆ กัน ไม่ต้องเสียเงิน เพียงแค่การส่งต่อข้อความไปก็หมดเรื่องหมดราวอาจจะเป็นผู้โชคดีก็ได้ไม่ได้เสียหายอะไร

2. สไตล์ความกลัว เช่น ถ้าไม่ส่งต่อข้อความนี้ คุณจะมีอันเป็นไป หรือ ให้ส่งต่ออีก 9 คน ถ้าไม่ส่งจะมีโชคร้ายเกิดขึ้น เป็นต้น ซึ่งเมื่ออ่านข้อความจบแล้วบางคนจะเกิดความกังวลขึ้นมากลัวว่าภัยหรือโชคร้ายจะมาถึงตัว จึงเลือกที่จะส่งต่อเพื่อที่จะให้ตัวเองหมดความกังวล

 
ข้อความลูกโซ่ที่ถูกส่งต่อๆกันมา
ข้อความลูกโซ่ที่ถูกส่งต่อๆกันมา
 


3. สไตล์ความลุ่มหลงในตัวบุคคล เช่น นายทหารนอกราชการหน้าตาหล่อเหลาอย่างกับเจมส์ บอนด์ มาขอหญิงไทยแต่งงาน เป็นการเจาะจงทาร์เก็ตว่าจะหาหญิงไทยอายุประมาณนี้ การเงินดี สรุปว่าหญิงไทยโอนเงินให้รวมทั้งปีไม่ต่ำกว่า 50 ล้าน โอนให้กับหนุ่มหล่อ แต่ในความเป็นจริงเป็นพวกต่างชาติผิวดำนักต้มตุ๋นที่อาศัยอยู่แถวประตูน้ำ แต่ภาพโปรไฟล์เป็นนายทหารหนุ่มหล่อ มีเงินมหาศาล อยากจะมาปักหลักในเมืองไทย

4. สไตล์ความหวังดี หลงผิด เช่น ถ้าดื่มน้ำ และกินอาหารประเภทนี้ คุณจะหายจากโรคมะเร็ง เบาหวาน เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของความหวังดีที่เห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันประสบทุกข์กับโรคภัย จึงอยากจะมีจิตอาสาแชร์ไปให้เพื่อนๆ แต่ไม่ได้ดูว่าสิ่งที่แนะนำให้กินนั้น ถูกต้องตามหลักการรักษาทางการแพทย์หรือไม่ และในบางครั้งต้นตอของการแชร์อาหารเพื่อสุขภาพ ผู้ที่ริเริ่มแชร์นั้นอาจจะมีการศึกษาที่ไม่ได้สูงมากจึงไม่รู้เรื่องสุขภาพอย่างแท้จริง ขณะที่ ข้อมูลนั้นอาจจะมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น หมอคนนั้น ผู้ใหญ่คนนี้ คนมีการศึกษาเล่าให้ฟัง และเมื่อได้รับข้อมูลมาจากคนที่ศรัทธาเชื่อถือ ทำให้นำความเชื่อจากคนเหล่านั้นมาบอกต่อๆ กัน โดยที่ยังไม่ได้มีข้อพิสูจน์อะไร ฉะนั้น ความเป็นจิตอาสา แชร์อะไรที่ไม่ใช่เรื่องจริงอาจจะเป็นบาปบริสุทธิ์ได้

 
บางคนมีจิตอาสาแชร์ไปให้เพื่อนๆ แต่ไม่ได้ดูว่าสิ่งที่ส่งให้เพื่อนนั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่
บางคนมีจิตอาสาแชร์ไปให้เพื่อนๆ แต่ไม่ได้ดูว่าสิ่งที่ส่งให้เพื่อนนั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่
 


แชร์ต่อ ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

การส่งข้อความลูกโซ่ลวง จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้างนั้น นายปริญญา อธิบายจากประสบการณ์ว่า คนที่ได้รับข้อความต่ออาจจะมองว่า ทำไมผู้ส่งถึงเชื่อเรื่องพรรค์นี้ได้? ซึ่งจะมองไปถึงภาพลักษณ์ของตัวผู้ส่งว่าเรียนมาระดับนี้หรืออายุขนาดนี้แล้วทำไมจึงยังเชื่อเรื่องข้อความลูกโซ่ให้ส่งต่อ และแน่นอนว่าหากตัวผู้ส่งเป็นคนที่มีความรู้ มีชื่อเสียง ภาพลักษณ์อาจจะเสียหายเพราะข้อความไร้สาระเหล่านี้ได้

ส่วนเรื่องข้อความลวงให้เสียทรัพย์ได้ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง อย่างเช่นข้อความที่ว่า พระครูรูปใหม่ วัดนี้ชื่อเสียงโด่งดังให้เลขแม่นถูกมา 3 งวดติด ใครอยากรวยให้ส่งต่อ 9 คน ซึ่งทำให้ผู้ที่ได้รับข้อความขวนขวายที่จะหาวัดนั้น พระรูปนั้น เพื่อที่จะไปกราบไหว้ บริจาคเงิน หรือเช่าวัตถุมงคล

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการแชร์ข้อความกินอาหาร ดื่มน้ำ หรือใช้สมุนไพรประเภทต่างๆ แทนยาแผนปัจจุบัน หลายคนหลงเชื่อว่าไม่ต้องกินยาแค่กินสมุนไพรก็หายขาดจากโรค จึงทำตามข้อความที่ใครไม่รู้ส่งต่อๆ มาให้ กระทั่ง โรคลุกลามและเสียชีวิตในที่สุดก็เคยมีกรณีเช่นนี้มาแล้ว

 
หากตัวผู้ส่งเป็นคนที่มีความรู้ มีชื่อเสียง ภาพลักษณ์อาจจะเสียหายเพราะข้อความไร้สาระเหล่านี้ได้
หากตัวผู้ส่งเป็นคนที่มีความรู้ มีชื่อเสียง ภาพลักษณ์อาจจะเสียหายเพราะข้อความไร้สาระเหล่านี้ได้
 
ควรจะต้องตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของข้อมูลก่อนว่า มาจากที่ไหน เชื่อถือได้หรือไม่
ควรจะต้องตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของข้อมูลก่อนว่า มาจากที่ไหน เชื่อถือได้หรือไม่
 


เกิดขึ้นแล้ว! เชื่อข้อความลูกโซ่ จนเสียชีวิต

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ เล่าให้ทีมข่าวฯ ฟังเกี่ยวกับกรณีตัวอย่างของการเชื่อถือข้อความลูกโซ่จนตัวตายว่า มีหญิง วัย 70 ปีคนหนึ่ง เป็นโรคความดัน เธอได้เล่นโซเชียลมีเดียกับเพื่อนๆ กระทั่ง มีอยู่วันหนึ่งหญิงชราได้รับข้อความหนึ่งส่งมาว่า คนที่เป็นโรคความดัน ควรจะกินสมุนไพรชนิดหนึ่งแล้วจะช่วยให้โรคความดันหายได้โดยไม่ต้องพึ่งยาแผนปัจจุบัน ทำให้หญิงชราเชื่อในข้อความที่เพื่อนส่งต่อมา เธอตัดสินใจหยุดกินยาแผนปัจจุบันที่คุณหมอให้ แล้วหันไปกินสมุนไพรนั้นแทน

ถึงแม้ว่าลูกหลานจะบอกจะกล่าว แต่ด้วยความเป็นผู้ใหญ่กว่า เธอไม่ยอมฟังคำอธิบายเหล่านั้น ยังคงเชื่อมั่นในข้อความนั้นอยู่ หญิงชราหยุดกินยาของหมอแต่หันไปพึ่งสมุนไพรเป็นระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาไม่นานสภาพร่างกายของเธอทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว จนในที่สุด ไม่ถึง 1 ปีจากนั้น เธอเสียชีวิตลง แม้แต่หมอก็รั้งชีวิตเธอไม่ทันท่วงที ลูกหลานทำได้เพียงโทษตัวเองหลังจากหญิงชราเสียชีวิตว่าไม่น่าเลย ถ้าบังคับให้กินยาแผนปัจจุบันต่อไปอาจจะอยู่ได้นานกว่านี้

“ภัยใกล้ตัว ภัยแห่งความหลงผิด โดยเฉพาะคนสูงอายุ ส่วนใหญ่จะเป็นคนวัย 60 ปีขึ้นไป ไม่ค่อยมีวัยรุ่น เพราะคนสมัยใหม่ไม่ค่อยเชื่อเรื่องอภินิหารและมักจะเสิร์ชหาข้อเท็จจริงก่อนที่จะปักใจเชื่อสิ่งนั้น แต่คนสูงอายุจะไม่รู้ว่าการค้นหาข้อเท็จจริงจะต้องทำอย่างไร คิดว่าการที่มีเพื่อนของตัวเองส่งมาให้เป็นสิ่งที่เชื่อถือได้ จึงทำให้คนสูงอายุส่วนใหญ่มักจะเชื่อข้อความเหล่านี้ได้ง่าย ฉะนั้น ลูกหลานควรดูแลอย่างใกล้ชิด และตักเตือน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายกับคนใกล้ตัว” นายปริญญา ฝากแง่คิด

 
เนื้อหาสาระหรือข้อมูลต่างๆ ที่ถูกแชร์ต่อๆ กันบนโลกออนไลน์ ต่างเป็นข้อความหรือบทความที่ถูกส่งต่อๆ กันมาอย่างง่ายดาย
เนื้อหาสาระหรือข้อมูลต่างๆ ที่ถูกแชร์ต่อๆ กันบนโลกออนไลน์ ต่างเป็นข้อความหรือบทความที่ถูกส่งต่อๆ กันมาอย่างง่ายดาย
 
เมื่อได้รับข้อมูลมาควรพินิจพิเคราะห์และไตร่ตรองถึงความถูกต้องก่อน
เมื่อได้รับข้อมูลมาควรพินิจพิเคราะห์และไตร่ตรองถึงความถูกต้องก่อน
 


สนิท-ไว้ใจ สาเหตุหลักความเชื่อเรื่องข้อความลูกโซ่

ด้าน นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันเมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตหลายๆ คนมากขึ้น พฤติกรรมการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการอ่านตัวหนังสือจากสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นสื่อออนไลน์มากขึ้น เพราะฉะนั้น เนื้อหาสาระหรือข้อมูลต่างๆ ที่ถูกแชร์ต่อๆ กันบนโลกออนไลน์ ต่างเป็นข้อความหรือบทความที่ถูกส่งต่อๆ กันมาอย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะผ่านแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊กหรือไลน์ ทำให้หลายคนที่ได้รับข้อมูลเหล่านี้ เมื่อได้อ่าน ทำให้รู้สึกเกิดความเชื่อได้ง่าย เพราะคิดว่าข้อมูลมาจากคนสนิทหรือคนที่เราไว้ใจ รวมถึงมองว่าการส่งข้อมูลต่อกันเป็นจำนวนมาก ยิ่งรู้สึกว่าเชื่อถือได้ ทำให้การหลงเชื่อก็ง่ายขึ้น จนขาดการพินิจพิเคราะห์และไตร่ตรองถึงความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยยังคงแตกต่างจากชาวต่างชาติ เนื่องจากชาวต่างชาติ จะถูกสอนให้รู้จักหาเหตุและผลก่อนว่าจริงหรือไม่ อย่างไร

นพ.ชิโนรส เล่าอีกว่า ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยเกิดกรณีเหล่านี้ขึ้นหลายครั้ง ยกตัวอย่าง คนไข้ไปเจอหรืออ่านข้อความที่มีคนส่งมาให้ ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งมีข้อความระบุว่า การรับประทานทุเรียนจะช่วยลดความอ้วนได้ จึงนำไปสู่การปฏิบัติตาม เมื่อมาโรงพยาบาลพบว่าน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งข้อมูลลักษณะนี้ เมื่ออ่านก็ต้องไตร่ตรองถึงความเป็นไปได้ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งอย่างที่ทราบ การรับประทานทุเรียนยิ่งเป็นการเพิ่มคอเลสเตอรอล เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่จะช่วยให้ลดความอ้วนได้ เพราะฉะนั้น การอ่านข้อความหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามด้วยวิธีผิด ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อโรคหรือสุขภาพให้แย่ลง หรือบางรายอาจอันตรายแก่ชีวิตได้

 
ข้อมูลนั้นอาจจะมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ จึงไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ข้อมูลนั้นอาจจะมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ จึงไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง
 


วิธีป้องกัน 3 ข้อ จากกรมสุขภาพจิต

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงวิธีป้องกัน เพื่อไม่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิต ได้แก่

1. อย่าหลงเชื่อข้อความ หรือบทความที่ไม่มีเหตุและผล ควรใช้วิจารณญาณในการไตร่ตรองข้อมูลอย่างรอบคอบข้อมูลมีความน่าเชื่อมากน้อยเพียงใด และมีความเป็นไปได้หรือไม่

2.หรือหากไม่มีการยืนยันแหล่งข้อมูลเป็นตัวบุคคล โดยเฉพาะชื่อแพทย์ ก็ไม่ควรหลงเชื่อ

3.ควรมีการตรวจทานความถูกต้องของข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติม เพราะหากเป็นข้อเท็จจริง ข้อมูลถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ จะต้องมีข้อมูลที่เป็นเชิงวิชาการอยู่ไม่น้อย

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากจะฝากคือ อย่าเผยแพร่หรือแชร์ข้อความที่ยังไม่แน่ใจว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะการแชร์หรือส่งข้อความต่อเท่ากับเราเป็นคนเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่จริง เช่นเดียวกับในสมัยก่อนที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดียจะเรียกว่า ข่าวลือที่ไม่เป็นความจริง จึงอยากให้หลายคนได้ไตร่ตรองข้อมูลทุกครั้งที่ได้รับมา ไม่ว่าจะด้วยช่องทางใดก็ตาม จะได้ไม่นำไปสู่การปฏิบัติตามด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องอีก ดังนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ควรมองข้าม เพราะยิ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้วยแล้วยิ่งต้องระมัดระวังมากขึ้น” นพ.ชิโนรส ฝากข้อคิดทิ้งท้าย.

 


ข้อมูลและรูปภาพ : http://www.thairath.co.th/content/556135

sendLINE

Comment