ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน

0.2M



ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน

 
ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน
 

     สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอในการปฏิบัติงานในโรงงานคือความปลอดภัย โดยเฉพาะการผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับ อันตรายจากการทำงานสูง  หากการป้องกันไม่รัดกุมเพียงพออาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งผู้ปฏิบัติงาน วัตถุดิบและเครื่องจักรในการผลิต อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องจักรโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และความประมาทของผู้ปฏิบัติงานเอง นอกจากนี้แล้วสภาพแวดล้อม ในการทำงาน เช่น การวางผังโรงงาน อากาศ แสงสว่าง หรือเสียงก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ หากสิ่งเหล่านั้นมีความบกพร่องและผิดจาก มาตรฐานที่กำหนดไว้ ดังนั้นความปลอดภัยในการทำงานจึงเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน เมื่อมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วนั้น โอกาสที่จะประสบอันตรายในขณะทำงานย่อมลดน้อยลง

     ความปลอดภัยในการทำงาน คือ สภาพที่ปลอดภัยจากอุบัติภัยต่างๆอันจะเกิดแก่ร่างกาย ชีวิต หรือทรัพย์สินในขณะที่ปฏิบัติงาน  ซึ่งก็คือ สภาพการทำงานที่ถูกต้องโดยปราศจาก "อุบัติเหตุ" ในการทำงานนั่นเอง

     อุบัติเหตุ คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดหมายและเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีผลกระทบกระเทือนต่อการทำงาน ทำให้ทรัพย์สินเสียหายหรือ บุคคลได้รับบาดเจ็บ การเกิดอุบัติเหตุนั้นมักจะมีตัวการที่สำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
      
    1. ตัวบุคคล คือ ผู้ประกอบการงานในหน้าที่ต่างๆ และเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ     
    2. สิ่งแวดล้อม  คือ ตัวองค์กรหรือโรงงานที่บุคคลนั้นทำงานอยู่ 
    3. เครื่องมือ เครื่องจักร คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน

สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ

1. สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยในการทำงาน อันได้แก่
    - เครื่องมือ เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ในการทำงานที่ชำรุดหรือเสื่อมคุณภาพ
    - พื้นที่ทำงานสกปรกหรือเต็มไปด้วยเศษวัสดุ น้ำหรือน้ำมัน
    - ส่วนที่เป็นอันตรายหรือส่วนเคลื่อนไหวของเครื่องจักรไม่มีที่กำบังหรือป้องกันอันตราย
    - การวางผังไม่ถูกต้อง การจัดเก็บสิ่งของไม่เป็นระเบียบ
    - สภาพการทำงานไม่ปลอดภัย เช่น เสียงดัง อากาศร้อน มีฝุ่นละออง

2. การกระทำที่ไม่ปลอดภัยเป็นสาเหตุใหญ่ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ คิดเป็น 85% ของการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด การกระทำที่ไม่ปลอดภัย ได้แก่
    - การกระทำที่ขาดความรู้ ไม่ถูกวิธีหรือไม่ถูกขั้นตอน
    - ความประมาท พลั้งเผลอ เหม่อลอย
    - การมีนิสัยชอบเสี่ยง หรือเจตนาหลีกเลี่ยงเพื่อความสะดวกสบาย
    - การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบความปลอดภัยในการทำงาน
    - การทำงานโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคค
    - ใช้เครื่องมือไม่เหมาะสมหรือผิดประเภท
    - การทำงานโดยสภาพร่างกายหรือจิตใจไม่ปกติ
    - ความรีบร้อนเพราะงานต้องการความรวดเร็ว

การป้องกันอุบัติเหตุ มีหลักการหรือวิธีโดยแบ่งออกเป็น 3 สถานการณ์คือ  
1. การป้องกันก่อนการเกิดอุบัติเหตุ คือการป้องกันหรือมีการเตรียมการล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ โดยมีหลักการต่างๆ เช่น

    1.1 หลักการ 5 ส. สู่การป้องกันอุบัติเหตุ เช่น
         1.1.1 สะสาง หมายถึงการแยกแยะงานดี-งานเสีย ใช้-ไม่ใช้
         1.1.2 สะดวก หมายถึงการจัดการ จัดเก็บให้เป็นระเบียบเป็นหมวดหมู่
         1.1.3 สะอาด หมายถึงการทำความสะอาดเครื่องมือ เครื่องจักรอุปกรณ์ สถานที่ก่อนและหลังการใช้งาน
         1.1.4 สุขลักษณะ หมายถึงผู้ปฎิบัติงานต้องรักษาสุขอนามัยของตัวเอง เครื่องมือ และสถานที่
         1.1.5 สร้างนิสัย หมายถึงการสร้างนิสัยที่ดี

    1.2 กฎ 5 รู้         
         1.2.1 รู้ งานที่ปฏิบัติว่ามีอันตรายอย่างไร มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร
         1.2.2 รู้ การเลือกใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์
         1.2.3 รู้ วิธีการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์
         1.2.4 รู้ ข้อจำกัดการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์
         1.2.5 รู้ วิธีการบำรุงรักษาเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์

    1.3 ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ

2. การป้องกันขณะเกิดอุบัติเหตุ หมายถึงการเตรียมตัวล่วงหน้า เป็นการลดอันตรายให้น้อยลงหรือไม่เกิดอันตรายเลย มีหลักการดังนี้คือ

    2.1 การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเพื่อป้องกันอวัยวะของร่างกาย ดังนี้
         2.1.1 หมวกนิรภัย
         2.1.2 อุปกรณ์ป้องกันใบหน้า ดวงตา
         2.1.3 อุปกรณ์ลดเสียง ป้องกันหู
         2.1.4 อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ
         2.1.5 อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย แขนขา
         2.1.6 อุปกรณ์ป้องกันมือ
         2.1.7 อุปกรณ์ป้องกันเท้า

    2.2 การปฏิบัติงานโดยใช้การ์ดเครื่องจักร
         2.2.1 การ์ดเครื่องกลึง
         2.2.2 การ์ดเครื่องเจียระไน
         2.2.3 การ์ดปิดส่วนที่หมุนของเครื่องจักร เช่น ฟันเฟือง

3. การป้องกันหลังการเกิดอุบัติเหตุ คือการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนขึ้น หรือมีการลดอันตรายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    3.1 การอพยพ การขนย้าย หลังการเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะมีการตกใจ ตื่นกลัว ดังนั้นควรมีการวางแผนการอพยพ หรือการขนย้ายผู้ป่วยอย่างถูกวิธี

    3.2 การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อลดอันตรายให้น้อยลง เช่น การห้ามเลือด การผายปอด

    3.3 การสำรวจความเสียหายหลังการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ผู้บาดเจ็บ สถานที่                                                                                  
 
ปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการรักษาความปลอดภัยในการทำงาน ประกอบด้วย

     1. เครื่องแต่งกาย และแบบฟอร์มที่เหมาะสมของผู้ปฏิบัติงาน อาทิ ชนิดและแบบของเสื้อผ้า ทรงผม ถุงมือ รองเท้า แว่นตานิรภัย การสวมเครื่องประดับและอื่นๆมีความถูกต้องเหมาะสมเพียงใด
     2. อาคารโรงงาน พิจารณาในด้านวัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาคารมีความทนไฟเพียงใด ทนต่อการผุกร่อนและมีอายุงานเท่าใด การออกแบบและการติดตั้งไฟฟ้า ระบบท่อลมอัด ท่อน้ำ ท่อไอน้ำหรือท่ออื่นๆมีความปลอดภัยเพียงใด สภาพพื้นโรงงานมีความคงทน และสะอาดเรียบร้อยเพียงใด
     3. เครื่องมือเครื่องจักรกล มีการป้องกันอันตรายไว้เพียงใด และมีการจัดวางไว้ที่ต่ำแหน่งที่เหมาะสมเพียงใด
     4. ทำความสะอาดเรียบร้อย ตรวจสอบสภาพความพร้อม และวินัยของพนักงานทำความสะอาดประจำโรงงาน
     5. แสงสว่างภายในโรงงาน พิจารณาในด้านตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสมของระบบโครมไฟฟ้า เพื่อให้ความเข้มส่องสว่างบนโต๊ะทำงานที่เพียงพอและไม่เกิดเงาหรือแสงสะท้อน รวมทั้งการเลือกชนิดของหลอดไฟที่เหมาะสมกับสภาพการทำงาน
     6. การระบายอากาศ พิจารณาของการไหลเวียนอากาศเข้าออกจากบริเวณทำงาน รวมทั้งคุณภาพของอากาศด้วย อาทิ ความชื้นสัมพัทธ์อุณหภูมิอากาศ ปริมาณฝุ่นละออง กลิ่นควันพิษที่มีอยู่ในอากาศนั้น
     7. ระบบการจัดเก็บและการดูแลควบคุมวัสดุ มีการแยกประเภทของวัสดุออกตามประเภทหรือไม่ อาทิ เป็นประเภทโลหะ สารไวไฟ สารพิษ สารเคมีพิเศษต่างๆ รวมทั้งการกำจัดเศษวัสดุที่เลิกใช้แล้วอย่างใดบ้าง
     8. ระบบฉุกเฉิน อาทิ การปฐมพยาบาล การดับเพลิง ทางหนีไฟ ทางออกฉุกเฉิน เครื่องช่วยชีวิต เครื่องขยายเสียง ระบบสัญญาณเตือนภัย ระบบสื่อสารภายในและภายนอก
การช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น                               
      
กรณีหยุดหายใจ

           1. ยกคางขึ้นแล้วกดศีรษะให้หงายไปข้างหลัง จากนั้นเอาสิ่งของที่อยู่ในปากของผู้ป่วยออกให้หมด
           2. บีบจมูกและอ้าปากของผู้ป่วย ประกบปากลงบนปากของผู้ป่วย แล้วค่อยๆเป่าลมจนเต็มปอด 2 ครั้ง
           3. ประกบมือทั้งสองข้างบริเวณกลางหน้าอกของผู้ป่วย และกดลงไป 30 ครั้ง
    * กระทำซ้ำหลายๆครั้งจนกว่าผู้ป่วยสามารถหายใจได้เอง

 
 

การห้ามเลือด

          1. ใช้ผ้าพันรอบแขนหรือขาสองรอบแล้วผูกเงื่อน 1 ปม                                                      
          2. ใช้ท่อนไม้วางบนเงื่อนแล้วผูกอีกเงื่อนหนึ่ง
          3. หมุนไม้เป็นวงกลมให้แน่นขึ้นจนกระทั่งเลือดหยุดไหล                      
          4. ผูกตรึงผูกตรึงปลายไม้ไว้ให้อยู่กับที่กันหมุนกลับ

 
การห้ามเลือด
 
safety_frist

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.wiboonproduct.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=409055&Ntype=3

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.rugusavay.com/first-aid-information-for-wounds-and-bleeding/

                           http://122.155.1.145/cmsdetail.pbi-3.70/3139/menu_894/330.1/

                           http://www.cmkbuilder.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539605792

                           http://www.wikihow.com/Do-CPR-on-a-Child


@Line THAIPURCHASING         
THAIPURCHASING.com !!! มี LINE Official แล้วรู้ยัง
สอบถามหาข้อมูลสินค้าหรือกิจกรรมต่างๆของเรา ได้ทุกวันผ่าน 

กดถูกใจ FanPage เพื่อติดตามกิจกรรมของเราได้ที่ :
Facebook.com/thaipurchasing.tensho

sendLINE

Comment