รถชน ต้องทำไง? ไขความลับประกันภัย รู้ไว้ไม่เสียสิทธิ์
รถชน ต้องทำไง? ไขความลับประกันภัย รู้ไว้ไม่เสียสิทธิ์
กระนั้นเอง ทำให้หลายคนเลือกที่จะหันมาพึ่งการทำประกันภัยรถยนต์มากขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะทำให้คุณรอดพ้นจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ อย่างน้อย ประกันภัยรถยนต์ ก็จะช่วยทำให้คุณอุ่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า หากเมื่อไรที่เป็นคราวซวยขึ้นมาจริงๆ แล้ว คุณก็ยังได้รับสิทธิประโยชน์หรือการชดเชยค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดจากอุบัติเหตุนั้นๆ อยู่บ้าง... ด้วยเหตุนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงขอไล่เรียงที่มาที่ไปเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อเป็นความรู้ให้หลายคนได้เข้าใจง่ายๆ ว่า อะไรบ้างที่คุณควรรู้จากบริษัทประกันภัย? และเมื่อไรที่คุณตกเป็นผู้เสียหาย คุณจะสามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์จากคู่กรณีได้ อย่างไรบ้าง...?
นายสมชาย สุดเสนาะ ผู้อำนวยการฝ่ายสินไหมทดแทน บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด อธิบายถึงประเภทของประกันภัยรถยนต์ เพื่อให้หลายคนได้ทำความเข้าใจง่ายๆ ว่า การทำประกันรถยนต์มีอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เรียกย่อๆ ว่า พ.ร.บ. ให้ความคุ้มครองทุกคนที่ประสบภัย ไม่เฉพาะแค่คนใช้ท้องถนนทั่วไปเท่านั้น แต่หมายถึง ทุกคน ที่ได้รับอันตรายจากรถ จึงหมายรวมถึง ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คู่กรณีและบุคคลที่สามทั้งหมด เป็นหลักประกันพื้นฐานให้กับคนไทยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ท้องถนน ที่เป็นภาระของเจ้าของหรือผู้ใช้รถต้องจัดทำไว้ อย่างไรก็ดี การคุ้มครองของ พ.ร.บ. นั้น คุ้มครองในมูลค่าพื้นฐานและคุ้มครองเฉพาะด้านชีวิตและร่างกายของคนเท่านั้น
ขณะที่ นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เผยให้ฟังว่า กรณีที่ผู้เสียหายมีประกันชั้น 1 เมื่อรถประสบอุบัติเหตุ สิทธิประโยชน์ที่ผู้เสียหายจะได้ คือ 1. ค่าซ่อมรถหรือค่าอะไหล่ ทางบริษัทประกันจะดำเนินการจัดซ่อมให้ทั้งหมด 2. การชดใช้คู่กรณี ในกรณีที่คุณเป็นฝ่ายผิด ประกันภัยจะรับผิดชอบแทน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน หรือชีวิตและร่างกายของคู่กรณี ส่วนกรณีที่คุณเป็นฝ่ายถูก บริษัทประกันจะดำเนินการจัดซ่อมรถให้ โดยไปเรียกร้องสิทธิ์กับคู่กรณีเอง ในส่วนของความเสียหายของรถนั้น ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 จะรับผิดชอบในการดำเนินการจัดซ่อมความเสียหายของรถให้ทั้งหมด แต่เนื่องจากว่าระหว่างการซ่อมรถ เราสามารถเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อมจากคู่กรณีได้ เช่น ค่าทำให้เสียเวลา ค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้นจากการขาดรถ ค่าเสื่อมสภาพที่อาจจะมี เช่น บริษัทไม่ยอมเปลี่ยนอะไหล่ แต่ใช้วิธีซ่อมแทน รวมถึงรายได้ที่ขาดหายไปเพราะขาดรถใช้ประกอบอาชีพ เช่น ขับแท็กซี่ ใช้ในการรับจ้าง เป็นต้น ซึ่งวงเงินที่เรียกจะขึ้นอยู่กับประเภทรถ การเจรจาตกลง และรายได้ตามความเป็นจริง
นายสมชาย แสดงทรรศนะอีกว่า โดยทั่วไปแล้ว สิทธิประโยชน์เหล่านี้ ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องสิทธิ์จากคู่กรณีได้ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าทำให้เสียเวลา รวมถึงสินไหมทดแทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เป็นสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนสามารถเรียกร้องได้อยู่แล้ว ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แต่จะสามารถเรียกได้ในวงเงินเท่าไรนั้น ล้วนขึ้นอยู่กับฐานะความเป็นอยู่ของคู่กรณีด้วย “เพราะฉะนั้น สิทธิประโยชน์ที่เราสามารถเรียกร้องจากคู่กรณีได้ ถือว่าเป็นสิทธิโดยพื้นฐานที่คนทั่วไปรู้อยู่แล้ว ว่า การโดนละเมิดสิทธิ์ตามกฎหมาย สามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่หน้าที่ของตัวแทนประกันที่จะต้องแจ้งสิทธิ์ในส่วนนี้” ผู้อำนวยการฝ่ายสินไหมทดแทน แสดงทรรศนะ นายอานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเรียกร้องสิทธิประโยชน์จากคู่กรณี ทั้งเรื่องค่าเสื่อมราคา หรือสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม กรณีนี้ผู้เสียหายต้องไปเรียกร้องจากคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิดเอง เนื่องจากสัญญาประกันภัยหรือกรมธรรม์ ไม่ได้คุ้มครองสิทธิ์เรียกร้องในส่วนนี้ เพราะฉะนั้นหากใครอ้างว่าไม่ทราบสิทธิประโยชน์เหล่านี้ ก็อาจจะต้องสูญเสียสิทธิ์ไป “ดังนั้น สิ่งที่ผู้ทำประกันต้องรู้จากบริษัทประกัน คือ เงื่อนไขคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ว่า หากเราตกเป็นผู้เสียหาย สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากบริษัทประกันภัยมีอะไรบ้าง และสิทธิ์เรียกร้องจากคู่กรณีได้มีอะไรบ้าง เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าเสียเวลาจากการใช้รถ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทประกันไม่สามารถไปดำเนินการเรียกร้องแทนผู้เสียหายได้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขภายใต้กรมธรรม์ที่จะคุ้มครอง และที่สำคัญก่อนทำประกันภัย ควรพิจารณาความคุ้มครองให้เหมาะสมกับประเภทของการใช้รถด้วย” นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าว นอกจากนี้ สำหรับการเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม สามารถเรียกได้ในวงเงินเท่าไรนั้น จะต้องเป็นไปตามความสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริง เช่น การขาดประโยชน์จากการใช้รถ โดยต้องไปเช่ารถวันละ 1,000 บาท ก็สามารถเรียกร้องได้ตามจำนวนนั้น หรือในกรณีที่ผู้เสียหายขับรถบรรทุก ซึ่งมีรายได้ วันละ 6,000 บาท ก็สามารถเรียกไปตามจำนวนนั้น ตามความเป็นจริง โดยคู่กรณีและประกันของคู่กรณีจะต้องเป็นฝ่ายที่รับผิดชอบทั้งหมด
นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ เผยว่า กรณีประสบเหตุจากรถ ผู้เสียหาย มีสิทธิ์ที่จะเรียกสินไหมทดแทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อมได้ เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าเสียเวลา หรือรายได้ที่ขาดหายไป จนกว่ารถจะซ่อมเสร็จ เช่น ในระหว่างซ่อมรถ ผู้เสียหายจะต้องใช้บริการแท็กซี่ไปทำงานแทน ถือเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องจากคู่กรณีได้ จนรถซ่อมเสร็จ ส่วนเรื่องของสภาพจิตใจ เช่น ค่าตกใจหรือค่าทำขวัญนั้น ไม่สามารถเรียกร้องได้ เนื่องจากยังไม่ถูกยอมรับในชั้นศาล ทั้งนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า การเรียกสินไหมทดแทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม จะสามารถเรียกอยู่ในวงเงินเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เช่น กรณีขับรถแท็กซี่ ซึ่งสามารถหารายได้ต่อวัน 1,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือวันละ 300 บาท เพราะฉะนั้น ค่าสินไหมทดแทนที่คนขับแท็กซี่คนนี้ จะสามารถเรียกจากคู่กรณีได้ คือ วันละ 300 บาท จนกว่ารถจะซ่อมเสร็จ
เลขาธิการสภาทนายความ ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า โดยทั่วไปสิทธิตามสัญญาในประกันภัยหรือกรมทัณฑ์ เป็นประกันวินาศภัย ซึ่งสามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์หรือค่าเสียหายได้ ตามความจริงที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการที่ตัวแทนประกันภัย ส่วนใหญ่ไม่ได้อธิบายหรือแจ้งถึงสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ ให้ลูกค้าทราบทั้งหมด เนื่องจากอาจถือว่า ในสัญญาประกันภัยหรือกรมธรรม์ มีข้อความอธิบายหรือระบุชัดเจนอยู่แล้ว “เพราะฉะนั้น หากลูกค้าไม่ได้รับรายละเอียดในการอธิบายพันธะสัญญาตามกรมทัณฑ์ให้เข้าใจอย่างชัดเจน จนทำให้ลูกค้าเสียสิทธิประโยชน์ กรณีนี้ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้” เลขาธิการทนายความ ระบุ อย่างไรก็ตาม สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มาตรา 95 ระบุว่า บริษัทใดจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงที่ต้องบอกให้แจ้งในการยื่นรายการ หรือให้คำชี้แจงตามมาตรา 49 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ดังนั้น สิ่งที่ควรจะรู้จากบริษัทประกัน คือ 1. ในสัญญาประกันภัยมีข้อห้ามอะไรบ้าง เช่น กรณีประสบเหตุจากรถ แล้วพบว่า คนขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถ ขับรถขณะเมา หรือกรณีที่คนขับไม่ใช่เจ้าของรถหรือลูกจ้างของเจ้าของรถ กรณีเหล่านี้ บริษัทประกันภัย อาจจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ซึ่งจะเรียกว่า ข้อยกเว้นที่บริษัทประกันไม่รับผิดชอบ และ 2. ต้องรู้ว่า สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากบริษัทประกันภัยมีอะไรบ้าง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียเวลาจากการใช้ประโยชน์จากรถในระหว่างซ่อม รวมถึงจัดหาทนายความให้ กรณีที่มีคดีอาญา ทางบริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบโดยการประกันตัวให้ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ตามหลักประกันทั่วไปที่ทางกรมทัณฑ์ประกันภัยกำหนดไว้
|

Comment
New!

สถาปนิก 68 ทบทวนทิศทาง Past Present Perfect

หากท่านอยู่ในอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี ไม่ควรพลาดงานนี้ !! งาน Thailand Oil & Gas Roadshow 2024

สถาปนิก’68 ทบทวนทิศทาง Past Present Perfect

แบรนด์ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างชั้นนำกว่า 600 บริษัท ตบเท้าร่วมงานสถาปนิก’67 พร้อมโชว์นวัตกรรมสุดล้ำ
Popular

ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน

สินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทย

การส่งกำลังโดยใช้สายพาน

ประเภทสกรูและน็อต อุตสาหกรรม