แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

3.0K



แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

 
แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
 

ผ่านมาครึ่งปี ท่านผู้อ่านคงพอจะทราบกันแล้วว่า เศรษฐกิจไทยได้เผชิญกับปัญหาในหลายด้าน โดยเฉพาะการส่งออกที่หดตัวประมาณร้อยละ 4 ซึ่งเป็นผลทั้งจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำและภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ รวมไปถึงสถาน การณ์การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ตลอดจนจากเหตุเฉพาะตัวสินค้าเอง โดยเฉพาะในหมวดอาหารทะเล


นอกจากนี้ ผู้บริโภคในประเทศยังรัดเข็มขัด ระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเป็นผลจากปัจจัยลบ ทั้งการลดกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมตามการส่งออกที่หดตัว, หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งประเด็นหลังนี้ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในต่างจังหวัด ทั้งนี้ การรัดเข็มขัดของผู้บริโภคดังกล่าว ยังสอดคล้องกับผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าได้ดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือนทีเดียว


ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 25 รวมถึงยังได้รับแรงหนุนจากการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้คาดว่าในครึ่งแรกของปี 2558 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยคงขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2.9


สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง ผมมองว่าเรายังต้องติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยประเด็นในต่างประเทศที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีน ซึ่งหากสามารถฟื้นตัวดีขึ้นได้ ก็น่าจะช่วยการส่งออกของไทย หลังจากที่ในช่วงครึ่งปีแรก การส่งออกของไทยไปยังจีนหดตัวไปประมาณร้อยละ 8


นอกจากนี้ แม้ว่าประเด็นเรื่องหนี้ของกรีซ จะดูเหมือนว่าคลี่คลายลงไปแล้ว หลังจากที่สภาฯ ของกรีซ ลงมติยอมรับเงื่อนไขของเจ้าหนี้เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือก้อนที่สาม ซึ่งมีมูลค่ารวม 8.6 หมื่นล้านยูโร แต่หลังจากนี้ไป การอนุมัติเบิกจ่ายเงินดังกล่าวคงจะทำเป็นงวด ๆ พร้อม ๆ กับการเข้ามาตรวจสอบความคืบหน้าในการดำเนินการปฏิรูป ตามเงื่อนไขที่เจ้าหนี้กำหนด ทำให้ยังต้องรอดูว่ากรีซจะสามารถเดินหน้าปฏิรูปได้จริงเพียงใด แต่ผมเชื่อว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่น่าจะดีขึ้นของกรีซ จะทำให้ประชาชนประสบความยากลำบาก และสร้างแรงกดดันทางการเมืองต่อรัฐบาล จนนำมาสู่การเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้อีกหลายรอบในช่วงข้างหน้า


นอกจากนี้ ยังต้องติดตามจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด หลังจากที่ตัวเลขอัตราการว่างงาน ลดลงไปอยู่ที่เพียงร้อยละ 5.3 และประธานธนาคารกลางสหรัฐได้ออกมากล่าวย้ำหลายครั้งว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดคงจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นปีนี้ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน


ประเด็นที่กังวลกันก็คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจจะส่งผลให้เงินทุนไหลออก จนทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินไทยตึงตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าธนาคารกลางสหรัฐคงจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง รวมทั้งการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะเกิดขึ้นหลังเดือนกันยายนดังนั้น ผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนของบ้านเราในปีนี้คงจะมีจำกัด โดยน่าจะไปเห็นชัดขึ้นในปีหน้ามากกว่า


ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอีกประการ คือราคาน้ำมันที่อาจจะทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกนาน หลังจากที่กลุ่มประเทศมหาอำนาจ สามารถบรรลุข้อตกลงกับอิหร่านในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ ซึ่งประเด็นนี้ผมมองในแง่บวก ว่าน่าจะช่วยบรรเทาแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นจากภาวะภัยแล้งได้บ้าง


ส่วนสถานการณ์ในประเทศที่สำคัญที่สุดในช่วงนี้ คงจะหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องภัยแล้ง ที่ในกรณีเลวร้ายที่ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก ๆ ยังคงลดลง ก็อาจกระทบต่อการผลิตน้ำประปาและความเป็นอยู่ของประชากรในเขตเมือง รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นอกเหนือไปจากที่กระทบการเพาะปลูกและรายได้ของเกษตรกรในชนบทไปแล้ว


ผมคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ จะถูกกดดันจากประเด็นปัญหาภัยแล้ง ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่มากนัก และส่งผลให้ทั้งปี 2558 จีดีพีของไทยคงจะขยายตัวได้ไม่เกินร้อยละ 2.8 โดยการส่งออกน่าจะติดลบเป็นปีที่สามติดต่อกัน


ภาวะเศรษฐกิจของไทยที่อ่อนแอดังกล่าว น่าที่จะเปิดช่องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก โดยเฉพาะหากธนาคารกลางสหรัฐเลื่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไปเป็นช่วงปลายปี ในขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์น่าจะยังได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งถือได้ว่าดีกว่าอีกหลายประเทศ ทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า หลังจากที่เพิ่งแตะระดับ 34.2 บาทต่อดอลลาร์ไปในสัปดาห์ที่ผ่านมา


สำหรับท่านผู้ประกอบการธุรกิจ ผมมองว่ากำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอ จะยังเป็นโจทย์สำคัญในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นอกเหนือไปจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ต้องติดตามในขณะเดียวกัน ท่านผู้อ่านที่เกี่ยว ข้องกับตลาดเงินตลาดทุนและอัตราแลกเปลี่ยน คงจะต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนจากสถานการณ์ต่าง ๆ ในต่างประเทศที่อาจจะกลับมาอีก ไม่ว่าจากจีน กรีซ หรือสหรัฐ...ครับ.


คอลัมน์ โลกการเงินกับดร.เชาว์ เก่งชน


อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/article/336105

รูปภาพ : http://isnhotnews.com/

sendLINE

Comment