เรียนรู้ปัญหาบ้าน ลดความเสี่ยงซื้อแล้วทรุด

2.0K



เรียนรู้ปัญหา "บ้าน" ลดความเสี่ยงซื้อแล้วทรุด

 
เรียนรู้ปัญหาบ้าน ลดความเสี่ยงซื้อแล้วทรุด
 

โดย...ทีมข่าวธุรกิจตลาดโพสต์ทูเดย์

เรื่องคุณภาพบ้านกลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังจากมีเรื่องราวของ 2 โครงการบ้านจัดสรรของบริษัทมหาชนชื่อดังที่มีปัญหาบ้านทรุด บ้านร้าว ตอกเสาเข็มไม่ได้มาตรฐานแชร์สนั่นในโลกออนไลน์ และยังไม่นับรวมข้อร้องเรียนปัญหาบ้านของบริษัทชั้นนำอีกมากมายหลายโครงการที่มีต่อเนื่องก่อนหน้านี้ ทำให้ความเชื่อมั่นต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคนั้นต้องเสื่อมถอยลง เพราะไม่รู้ว่าเมื่อซื้อไปแล้วจะโดนแจ็กพอต เจอปัญหาบ้านร้าว บ้านทรุด จนถึงบ้านพังพ่วงมาด้วยหรือไม่

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวยอมรับว่า การจะเลือกดูว่าบ้านหลังที่จะซื้อจะมีปัญหาเรื่องทรุด ร้าวในอนาคตหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตอนที่เลือกซื้อบ้าน จะเห็นแต่บ้านที่สร้างเสร็จแล้ว ซึ่งมีความสวยงาม มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี แต่เรื่องการทรุดตัวของบ้านก็จะเกิดปัญหาในปีถัด ๆ ไป

อย่างไรก็ตาม ในการซื้อบ้านยุคใหม่ ผู้บริโภคต้องเรียนรู้ปัญหาบ้านที่อาจจะเกิดขึ้นล่วงหน้า พร้อมกับศึกษาให้รอบด้านมากขึ้น จะมองแค่เรื่องทำเลที่ชอบ ทำเลที่ใช่ในราคาที่รับได้เพียงเท่านั้นไม่ได้แล้ว

สำหรับแนวทางที่ผู้บริโภคสามารถเรียนรู้ได้ในเบื้องต้น หากเจอบ้านหลังที่ถูกใจแล้ว ควรขอแบบก่อสร้างของตัวบ้านมาดูอย่างละเอียดก่อน ซึ่งถือเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะขอได้ โดยจุดที่จะมีปัญหาส่วนใหญ่ คือ รั้วกับที่จอดรถด้านหน้าตัวบ้าน เพราะเป็นส่วนที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ตอกเสาเข็ม จึงเป็นจุดที่ทรุดตัวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตัวบ้านถ้าการตอกเสาเข็มมีมาตรฐานปกติจะไม่มีทางทรุด

นอกจากนี้ ผู้ซื้อบ้านควรสำรวจพื้นที่ติดกับโครงการด้วยว่าลักษณะของดินย่านนี้เป็นอย่างไร โครงการอยู่ใกล้บึง หรือใกล้แหล่งน้ำหรือไม่ ซึ่งหากมีลักษณะดังกล่าวอาจวิเคราะห์ในเบื้องต้นได้ว่า พื้นที่ของโครงการนี้ในอดีต ก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งต้องให้ความสนใจกับการถมดินของโครงการเป็นพิเศษ

สุชัชวีร์ กล่าวว่า แต่ไม่ว่าพื้นที่ย่านนั้นจะเป็นอย่างไรมาก่อนก็ไม่สำคัญเท่ากับวิธีการก่อสร้างเป็นอย่างไร และเลือกวัสดุก่อสร้างที่เหมาะสมหรือไม่ ถมดินอย่างไร ถมนานเท่าไร ปล่อยให้ดินเซตตัวนานเท่าไร ถ้าถมแล้วทิ้งนาน 4-6 ปี ส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหา แต่โครงการบ้านจัดสรรยุคใหม่ๆ ส่วนใหญ่ถมดินแล้วสร้างเลย เพราะผู้ประกอบการต้องการรีบเปิดขาย รีบสร้าง เพราะต้องการรับรู้รายได้เร็ว

ในการซื้อบ้าน ผู้บริโภคควรเปรียบเทียบเรื่องคุณภาพของบ้านในโครงการบนทำเลที่ต้องการให้มากขึ้น ทั้งเรื่องวัสดุก่อสร้างที่ใช้ การรับประกันบ้านเป็นอย่างไร อย่ามองเพียงราคากับโปรโมชั่น ซึ่งต้องยอมรับว่าคนซื้อบ้านส่วนใหญ่จะมองเรื่องทำเลกับราคาเท่านั้น

ส่วนประเด็นเรื่องการทรุดตัวของดิน ก็ถือเป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การทรุดจนทำให้บ้านเสียหายอย่างมีนัยสำคัญเช่นกรณีโครงการหมู่บ้านย่านรัชวิภาที่เห็นเป็นข่าวถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ ซึ่งการจะซ่อมก็ต้องรู้สาเหตุก่อนว่าเกิดจากอะไร ถ้าไม่รู้สาเหตุ ซ่อมอีกก็มีปัญหาอีก

ด้าน มานพ พงศทัต อาจารย์ประจำภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นดินอ่อน มีโอกาสที่จะเห็นบ้านทรุดได้ ซึ่งคนซื้อบ้านต้องเตรียมตัวรับมือ เพราะผู้ประกอบการไม่ได้ดูแลตลอด ส่วนผู้ประกอบการก็ควรเพิ่มมาตรฐานในการก่อสร้างให้เหนือกฎหมายในบางพื้นที่ที่เสี่ยง เช่น พื้นที่ที่เคยน้ำท่วมบ่อยๆ โซนบางขุนเทียน ต้องสร้างให้แข็งแรงกว่าพื้นที่อื่น เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องมีความรอบคอบในการก่อสร้างมากขึ้น ควรให้คำแนะนำกับลูกบ้านในการซื้อประกันเพิ่มเติม โดยเฉพาะหลังจากที่หมดประกันกับโครงการแล้ว เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะภัยธรรมชาติ ซึ่งการร่วมดูแลและแก้ปัญหา แม้โครงการนั้นจะส่งมอบไปนานแล้ว ท้ายที่สุดก็มีผลดีกับภาพลักษณ์ของบริษัทเอง

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า กรณีหมู่บ้านจัดสรรย่านรัชวิภา จะสังเกตว่าตัวบ้านไม่ได้ทรุด รั้วกับที่จอดรถที่ทรุดตัว เพราะลักษณะของบ้านในโครงการนี้รั้วกับที่จอดรถเชื่อมกับตัวบ้าน แต่ไม่ได้อยู่บนโครงสร้างเดียวกับตัวบ้าน เมื่อถึงจังหวะที่ดินทรุดตัว ซึ่งเป็นปกติของกรุงเทพฯ รั้วกับที่จอดรถ ซึ่งอยู่บนพื้นดินที่ไม่มีเสาเข็ม ก็จะทรุด และในบางหลังอาจจะหนักถึงกับดึงบางส่วนของตัวบ้านเสียหายไปด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นคงต้องย้อนกลับไปยังผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถึงความใส่ใจในคุณภาพที่อยู่อาศัยที่มีราคาแพงขึ้นทุกวันว่า ได้ใส่ใจและรับผิดชอบกันดีพอหรือยัง ยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขันสร้างยอดขาย สร้างรายได้ โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพบ้าน จะกลายเป็นปัญหาที่ย้อนกลับมาทำลายชื่อเสียงของบริษัทได้ในไม่ช้า


ข้อมูลและรูปภาพ : http://www.posttoday.com/

sendLINE

Comment