นักดื่ม “เวียดนาม” รักสุขภาพ ดันตลาดเบียร์ 0% โตพุ่ง

1.7K



นักดื่ม “เวียดนาม” รักสุขภาพ ดันตลาดเบียร์ 0% โตพุ่ง

เวียดนามนับเป็นประเทศที่ผู้คนดื่มเบียร์หนักเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และของโลก ตามข้อมูลของ “คิริน” ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ปี 2559 ชาวเวียดนามบริโภคเบียร์ไปกว่า 4,100 ล้านลิตร มากเป็นอันดับ 9 ของโลก และเติบโตสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกในอัตรา 7.4% จากปีก่อนหน้า เติบโตก้าวกระโดดจนองค์การอนามัยโลกต้องส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เหงียน ซวน ฟุก แสดงความห่วงใยเรื่องปัญหาสุขภาพจากแอลกอฮอล์

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รสนิยมการดื่มของชาวเวียดนามมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เฮลตี้มากขึ้น โดยเบียร์แอลกอฮอล์ต่ำและไร้แอลกอฮอล์กำลังมาแรงจากดีมานด์ของผู้หญิง วัยรุ่น และชนชั้นกลาง ซึ่งสนใจสุขภาพมากขึ้น จนเกิดเป็นเซ็กเมนต์ใหม่ในตลาดเบียร์เวียดนาม สะท้อนจากชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตดังอย่างไฟไวมาร์ท (FiviMart) ซึ่งเบียร์ไร้แอลกอฮอล์จากเยอรมนีและญี่ปุ่นเริ่มครองพื้นที่เชลฟ์มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ราคาจะสูงกว่าเบียร์นำเข้าทั่วไปถึง 10%

โดยช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตเบียร์และเครื่องดื่มหลายรายพากันส่งเบียร์แอลกอฮอล์ต่ำหรือไร้แอลกอฮอล์ออกสู่ตลาด พร้อมเพิ่มกำลังผลิตเพื่อรับเทรนด์ใหม่นี้ อย่างเช่น ซาบิเบโค (Sabibeko) บริษัทย่อยของ “ซาเบโค” (Sabeko) ซึ่งประกาศเพิ่มกำลังการผลิต “ซาโตกา” (Satoga) เบียร์แอลกอฮอล์ต่ำกว่า 0.5% ให้ได้เดือนละ 1 ล้านลิตร หรือ 5 เท่าจากปัจจุบันภายในปี 2568 รับกับยอดขายซึ่งเริ่มไต่ขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังซบเซามานานตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2557

ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดเครื่องดื่มเริ่มเกาะกระแสนี้ด้วย โดย “ทีเอช กรุ๊ป” ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมสัญชาติเวียดนาม เปิดตัวเครื่องดื่มมอลต์เมื่อเดือน พ.ค. ชูจุดขายแอลกอฮอล์ 0.7% พร้อมสารอาหารทั้งธาตุเหล็กและแร่ธาตุอื่น ๆ ส่วนคาเฟ่ “ออลเวย์” ในกรุงฮานอยได้พัฒนาสูตรเบียร์แอลกอฮอล์ต่ำพิเศษในรูปแบบเครื่องดื่มยีสต์และวิปครีม ซึ่งเด็กสามารถดื่มได้ จนได้รับความนิยมจากบรรดาสาว ๆ

นอกจากนี้ ในระยะยาวยังมีปัจจัยหนุนจากแนวทางของภาครัฐ ซึ่งพยายามควบคุมการบริโภคเบียร์ของชาวเวียดนามอีกด้วย นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “เหวียน ทิ คิม เทียน” โดยเฉพาะแนวคิดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่เที่ยวกลางคืนยอดฮิตอย่างคาราโอเกะ รวมถึงห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลัง 4 ทุ่ม และห้ามโฆษณาเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เกิน 15% เป็นต้น

โดยคาดว่าจะเข้าสภาในปี 2562 รวมถึงการแข่งขันดุเดือดในตลาดเบียร์ระหว่างผู้เล่นท้องถิ่นและต่างชาติ จนกำไรของผู้เล่นรายใหญ่เริ่มหดหาย โดยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ “ซาเบโค” มีกำไรลดลง 4% จากปีก่อน เหลือ 127 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2556 แม้ยอดขายจะเติบโต 8% เป็น 722 ล้านเหรียญสหรัฐก็ตาม เนื่องจากหมดเงินไปกับค่าการตลาด ภาษีและต้นทุนอื่น ๆ จนอาจทำให้ปีนี้ผลกำไรลดลงถึง 19% ด้าน “ฮาเบโค” ในช่วงเดียวกันมีรายได้ 183 ล้านเหรียญสหรัฐ และกำไร 17.5 ล้านเหรียญสหรัฐไม่เติบโตจากปีก่อน ด้านส่วนแบ่งตลาดเริ่มสูญเสียให้กับคู่แข่งต่างชาติมากขึ้น

ทั้งนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำและไร้แอลกอฮอล์นับเป็นกระแสที่มีความแรงทั่วโลก โดยซันโตรี่ (Suntory) เพิ่งลอนช์ “ออลฟรี” เครื่องดื่มรสเบียร์ในตลาดญี่ปุ่นไปเมื่อไม่นานนี้ ส่วน “ลากูนิต้า” ผู้ผลิตเบียร์สัญชาติสหรัฐได้เปิดตัวสินค้าคล้ายกันในชื่อ “ฮอบวอร์เตอร์” ส่วนฝั่งอังกฤษยอดขายเบียร์นอนแอลกอฮอล์เติบโตถึง 58% จึงต้องรอดูกันว่ากระแสนี้จะจุดติดในเวียดนามด้วยหรือไม่ และหากมาตรการลดการดื่มของรัฐมีผลบังคับใช้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตลาดอย่างไรบ้าง

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  www.prachachat.net

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

 

sendLINE

Comment