ความร่วมมือทางด้านสาธารณสุข ไทย – เมียนมา

1.4K



ความร่วมมือทางด้านสาธารณสุข ไทย – เมียนมา

          บริษัท Ga Mone Pwint ผู้ดําเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าของเมียนมาร่วมกับกลุ่มธานีแลนด์ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของกลุ่มธนบุรี (Thonburi Healthcare Group) เปิดตัวโรงพยาบาลนานาชาติ Ar Yu ที่กรุงย่างกุ้ง และจะเปิดให้บริการในกลางเดือนสิงหาคม 2561 โดยโรงพยาบาลมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง ๗๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นโครงการแรกที่ทั้งสองบริษัทได้ร่วมมือกันเพื่อตอบสนองความต้องการบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพสูง และถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและบริการด้านสาธารณสุขของเมียนมาร์ ทั้งนี้ โรงพยาบาลนานาชาติ Ar Yu จะเปิดให้บริการเหมือนโรงพยาบาลทั่วไป แต่จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและระบบประสาท

                  จากการสํารวจที่ผ่านมา พบว่าชาวเมียนมาส่วนใหญ่ซื้อยาจากร้านขายยาหรือตรวจรักษาที่คลินิกทั่วไปมากกว่าการวินิจฉัยด้วยแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่ในปัจจุบัน ความต้องการการรักษาที่เหมาะสม และทันเวลา เพื่อลดความเสี่ยง ทําให้โรงพยาบาลใหม่เป็นที่ต้องการของคนป่วยมากกว่าการเดินทางไปรักษาที่ต่างประเทศ โดยความต้องการส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนชั้นกลางขึ้นไป ซึ่งมักเดินทางไปรักษาที่ต่างประเทศ อาทิ ไทย สิงคโปร์ และอินเดีย และจากรายงานของ Oxford Business Group พบว่ามีมูลค่าการใช้จ่ายเพื่อรักษาพยาบาลในต่างประเทศ รวม ๒๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยนายแพทย์วสันต์ อภิวัฒนกุล CEO โรงพยาบาล Ar Yu กล่าวว่า ด้วยเหตุผลข้างต้นโรงพยาบาลนานาชาติ Ar Yu จึงตอบสนองความต้องการและมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นําด้านการให้บริการสาธารณสุขที่มีความพร้อมด้านเครื่องมือและการบริการเช่นเดียวกับโรงพยาบาลนานาชาติในกรุงเทพฯ

               โรงพยาบาลนานาชาติ Ar Yu ตั้งอยู่ที่ถนน Kyaik Ka Son ในเขต Tamwe เป็นโรงพยาบาลสูง 11 ชั้น มีเตียง จํานวน 200 เตียง 6 ห้องผ่าตัด 16 หน่วยบริการเฉพาะทาง และมีที่จอดรถ 350 คัน มีการให้บริการฉุกเฉินทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงยังมีระบบสํารองไฟฟ้าฉุกเฉิน 4 เครื่อง ซึ่งสามารถสํารองไฟฟ้าได้ 1,000 KVA อุปกรณ์ป้องกันการเกิดอัคคีภัย และระบบอิเลกทรอนิกส์ทางการแพทย์จาก DXC ประเทศไทย ดังนั้น โรงพยาบาลนานาชาติ Ar Yน ถือว่าเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดในเมียนมาร์ เนื่องจากร้อยละ 90 ของโรงพยาบาลเอกชนมีจํานวนเตียงน้อยกว่า 100 เตียง และโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในกรุงย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์ ในระยะแรกโรงพยาบาลนานาชาติ Ar Yu อาจยังไม่สามารถให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ แต่จะมีการวางแผนสร้างห้องฉายรังสีและสิ่งอํานวยความสะดวกอื่น ๆ ในระยะถัดไป ปัจจุบันสาเหตุของการตายส่วนใหญ่ ได้แก่ อุบัติเหตุทางจราจร โรคหัวใจ โรคปอด และโรคติดเชื้อ

                   รัฐบาลเมียนมาร์ใช้จ่ายงบประมาณด้านสาธารณสุขสูงถึง 690 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560-2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปี 2559 – 2560 หรือคิดเป็นร้อยละ 5.2 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรรทั้งหมดในปี ๒๕๕๗ บริษัทต่างชาติได้รับอนุญาตให้ถือหุ้นร้อยละ 70 ของธุรกิจคลินิกและโรงพยาบาล และในปี 2558 บริษัท Ga Mone Pwint ได้ลงนามความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจธนบุรีเพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลนานาชาติ Ar Yu ซึ่งในระยะแรกฝ่ายไทยจะถือหุ้นร้อยละ 10 และจะค่อย ๆ ปรับขึ้นเป็นร้อยละ 40 ในระยะต่อไป ในขณะเดียวกัน บริษัท Ga Mone Pwint ยังคงดําเนินธุรกิจหลักและกําลังสร้างตลาดขายส่งในเขต Mingalar Taung Nyunt ในกรุงย่างกุ้ง รวมทั้งมีแผนที่จะเปิดธุรกิจค้าปลีกในเขตอื่น ๆ ตลอดจนมีโรงแรมที่อยู่ใกล้ Aung Mingalar Gate ในเขต Mingalardon ของกรุงย่างกุ้ง

                   เมียนมา ยังขาดบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพสูง และนิยมเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขของไทย จึงมีโอกาสที่ไทยจะเข้ามาแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านนี้ รวมทั้งสร้างโอกาส ความร่วมมือกับเมียนมาร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสการลงทุนด้านสาธารณสุขในเมียนมาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่รัฐบาลเมียนมาร์ให้ความสําคัญเป็นลําดับต้น

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง , www. globthailand.com

 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

sendLINE

Comment