วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

2.1K



วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

ความหมายของวันผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ หมายถึง วัยชรา บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิง หรือมนุษย์ที่มีอายุอยู่ในช่วงปลายของชีวิต ผู้สูงอายุคือวัยที่อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ส่วนวันผู้สูงอายุ คือ วันที่รวมญาติ ลูกๆหลานๆ มาเยี่ยมพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย

วันผู้สูงอายุในประเทศไทย

กรมประชาสงเคราะห์ ได้รับคำสั่งจากจอมพล ป.พิบูลสงครามซึ่งสมัยนั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค เป็นแห่งแรกในปี พ.ศ.2496 เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่เดือดร้อน มีความทุกข์ยากประสบปัญหาและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง รวมถึงกำหนดนโยบายที่สำคัญ ที่จะส่งเสริมสนับสนุน ให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข

วันผู้สูงอายุสากล

ส่วนองค์การสหประชาชาติกำหนดให้ทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันผู้สูงอายุสากล" เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2525 องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งในต่างประเทศก็ให้ความสำคัญของผู้สูงอายุเช่นกัน

วันที่ใช้จัดกิจกรรมวันผู้สูงอายุ

ทางการกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุ ซึ่งนอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังเป็นวันผู้สูงอายุอีกด้วย ซึ่งจะทำให้มีลูกหลานกลับมาเยี่ยมบ้าน เยี่ยมพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทำให้ วันนี้เป็นเหมือนวันรวมญาติ ที่จะได้อยู่กันแบบอบอุ่นพร้อมหน้าพร้อมตากันนั่นเอง

ประวัติและความเป็นมาของวันผู้สูงอายุ

คณะกรรมการอำนวยการวันอนามัยโลกของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติให้ใช้ คำขวัญเป็นภาษาไทย ว่า " ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน " ในขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคำขวัญภาษาอังกฤษว่า Add life to years ในปี พ.ศ.2525 ซึ่งถือว่าเป็นปีรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งทางองค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย และได้ให้ความหมายของคำว่า " ผู้สูงอายุ " ว่า ผู้สูงอายุ หมายถึง บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป และได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการศึกษา และด้านการพัฒนา

ส่วนในประเทศไทยที่สมัยรัฐบาลในสมัย พล.เอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ เพราะเห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และคิดว่าจะทำอย่างไร จึงจะให้ลูกหลานได้กลับมารวมตัวกันในวันสำคัญเช่นนี้ ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุ เพราะนอกจากเป็นวันสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทยแล้ว ยังถือเป็นเสมือนวันรวมญาติ ซึ่งรัฐบาลเองก็มองเห็นความสำคัญ และความสอดคล้องกัน ทำให้กำหนดวันสงกรานต์นี้ เป็นวันผู้สูงอายุด้วยและได้เลือก "ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ

ส่วนที่เลือกดอกลำดวน นั้น เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ให้ร่มเงาดีและดอกมีสีนวล กลิ่นหอม กลีบแข็งไม่ร่วงง่าย เหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิ ที่คงคุณธรรมความดีงามไว้ให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานตลอดไป และต้นลำดวนเป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประการสำคัญ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงดำริให้จัดสวนนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุอีกด้วย

แม้จะเป็นวัยที่หลายคนนิยามว่าเป็น "ไม้ใกล้ฝั่ง" แต่ "ผู้สูงอายุ" ทั้งหลายคือผู้สร้างประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองมาแล้วนับไม่ถ้วน หรืออย่างน้อยๆ ก็เป็นหนึ่งในผู้มีพระคุณของครอบครัวที่ไม่ควรจะละเลย ยังนับเป็นประชากรที่มีสัดส่วนมาก ทั่วโลกจึงพากันรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ด้วยการกำหนด "วันผู้สูงอายุ" ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้บรรดาลูกหลานทั้งหลายหันมอง และเอาใจใส่ผู้สูงอายุที่เป็นคนใกล้ตัว

กิจกรรมวันผู้สูงอายุ

วันผู้สูงอายุ ถูกผูกรวมไว้กับวันขึ้นปีใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ทำให้ลูกหลานที่จากบ้านไปเป็นปีๆ เพื่อทำงาน แล้วก็จะกลับมารวมกันอีกครั้งในวันสงกรานต์ ทำให้เป็นกลายเป็นครอบครัวใหญ่ที่มาอยู่กันพร้อมหน้า แบะมีกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันนั่นเอง

ทำบุญตักบาตร

ในช่วงเช้าตามวิถีชาวพุทธ จะมีการทำบุญตักบาตร ที่ถือเป็นกิจกรรมสำคัญอันดับต้นๆ ของวันสงกรานต์ และวันผู้สูงอายุ ซึ่งตอนเช้าหลายๆบ้าน จะพาผู้สูงอายุไปวัด เพื่อทำพิธีสงฆ์ รวมถึงถวายภัตตาหาร และปัจจัย รับน้ำพระพุทธมนต์

มอบโล่ และเกียรติบัตร

มอบโล่และเกียรติบัตรให้แก่ ครอบครัวของผู้สูงอายุที่เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม หรือทำกิจกรรมที่สร้างความตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของสังคม มอบรางวัลแด่ผู้สูงอายุดีเด่น และผู้ดูแลผู้สูงอายุที่เป็นจิตอาสาดีเด่นด้วย

พิธีรดน้ำดำหัว

ส่วนใหญ่ตามเทศบาลต่างๆ ที่จัดงานวันผู้สูงอายุ จะจัดเป็นพิธีการขึ้น มีแขกผู้มีเกียรติ และชาวบ้าน รวมถึงข้าราชการมาร่วมกัน รดน้ำ ดำหัว ขอพร ผู้แทนผู้สูงอายุก็คือการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือนั่นเอง

ชมการแสดงของผู้สูงอายุ

บางแห่งอาจมีการแสดงของชมรมผู้สูงอายุ หรืออาจจะมีการแสดงของ ลูกหลาน ที่จัดควบคู่ในวันสงกรานต์ไปเลย เพื่อให้ในวันผู้สูงอายุ เป็นไปอย่างสมบูรณ์ และทำให้วัยชราเหล่านั้นมีความสุข

สัมมนาและจัดนิทรรศการ

ชมนิทรรศการของชมรมผู้สูงอายุ แต่ละอำเภอ รวมถึงเวทีสมัชชาผู้สูงอายุ และแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น/นำเสนอ,สรุปผลการประชุม ซึ่งจะเป็นบางสถานที่ ที่มีบทบาทต่อทาราชการ เพราะกลุ่มผู้สูงวัยบางอำเภอ อาจจะมีความสามารถ ทำให้มีการจัดงานขึ้นมา เพื่อให้ผู้สูงอายุเหล่านั้นได้แสดงออกทางความคิดด้วย

นอกจากนี้กิจกรรมรดน้ำดำหัวและ ขอพรจากผู้สูงอายุตามหมู่บ้าน และชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ แล้ว วันผู้สูงอายุยังได้รับของขวัญจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะมีการให้สิทธิพิเศษในการใช้บริการ โดยอาจมีความร่วมมือจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือขสมก. ให้บริการผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ฟรีตลอดวัน ทั้งของ ขสมก. และรถเอกชนร่วมบริการ ทุกเส้นทาง โดยแสดงบัตรประชาชน รวมถึงรถไฟฟ้า BTS ให้บริการฟรีผู้สูงอายุช่วงสงกรานต์ 13-15 เมษายน เพียงแสดงบัตรประชาชนแก่พนักงาน ซึ่งในแต่ละปีอาจจะไม่เหมือนกัน

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.bangkokbiznews.com

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


 

 

sendLINE

Comment