7 เหตุผล ว่าทำไมเราควรไปเที่ยว "เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี"

2.0K



7 เหตุผล ว่าทำไมเราควรไปเที่ยว "เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี"

       อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ หรือที่คนเรียกกันติดปากว่า เขาคิชฌกูฏ นั้น ตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งไม่ได้เปิดให้ขึ้นตลอดทั้งปี แต่จะเปิดในช่วงเทศกาลหรือช่วงเดือนมกราคม - มีนาคมเท่านั้น โดยในปีนี้ผู้ที่มีจิตศรัทธาสามารถเดินทางขึ้นไปนมัสการได้ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม ถึง 17 มีนาคม 2561

เหตุผลที่ควรไปเขาคิชฌกูฏ

1. ไปเพื่อแสวงบุญ

     เขาคิชฌกูฏนั้น ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าการได้ขึ้นไปนมัสการก็เหมือนการได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด รวมทั้งยังช่วยเสริมสิริมงคลให้กับตัวเองในช่วงต้นปี อีกทั้งยังเชื่อว่าเมื่อมาแล้วจะได้รับอานิสงส์อันแรงกล้า ส่งผลให้ชีวิตประสบความสำเร็จมีความสุข มีงานที่ดี และทำมาค้าขายรุ่งเรือง

2. นมัสการรอยพระบาทพลวง

     สำหรับ "พระบาทพลวง" หรือ "พระพุทธบาทพลวง" ประดิษฐานอยู่บนเขาคิชฌกูฏ โดยพระบาทพลวงนี้เป็นรอยพระพุทธบาทที่จารึกไว้ที่ศิลาแผ่นขนาดใหญ่ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร อยู่บนยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดของประเทศไทย

     โดยตามตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏมีอยู่ว่า นายติ่งและคณะได้ขึ้นบนเขาเพื่อไปหาไม้กฤษณามาขาย และได้ไปพักเหนื่อยบนลานหินกว้าง ระหว่างนั้นเพื่อนของนายติ่งคนหนึ่งได้ถอนหญ้าเพื่อนอนพักก็พบแหวนใหญ่ขนาดสวมหัวแม่เท้าได้ และเมื่อช่วยกันตรวจดูก็พบหินแผ่นหนึ่ง มีพื้นที่เป็นรอยรูปก้นหอย ต่อมานายติ่งและเพื่อนได้นำบุตรชายไปอุปสมบทที่วัดพลับ รุ่งขึ้นก็มีงานปิดรอยพระพุทธบาทจำลอง นายติ่งซื้อทองไปปิดแล้วจึงพูดว่าแถวบ้านตนก็มีรอยแบบนี้เช่นเดียวกัน พอดีมีพระได้ยินเข้าจึงไปเรียนให้เจ้าอาวาสวัดรับทราบ เจ้าอาวาสจึงเรียกนายติ่งเข้าไปสอบถาม พร้อมกับส่งคณะขึ้นไปพิสูจน์ ก็พบว่าเป็นความจริง และเมื่อตรวจดูบริเวณรอบ ๆ ก็พบกับหินก้อนโตรูปร่างประหลาดมากมาย ลักษณะคล้ายกับบาตรพระตะแคง ต่อมาเรียกว่า "หินลูกพระบาท" ตั้งขึ้นมาอย่างน่าแปลกประหลาดมหัศจรรย์ มองดูคล้ายลอยอยู่เฉย ๆ นอกจากนี้ยังมีคนกล่าวว่าเขาเคยเอาด้ายสายสิญจน์คล้องแล้วหลุดออกมาได้ ซึ่งถือเป็นอีกสิ่งสำคัญอีกหนึ่งประการของประชาชนที่เดินทางขึ้นไปเขาคิชฌกูฏ

3. ขอพรได้ 1 อย่าง

     เนื่องจากที่นี่ได้กลายเป็นสถานที่พึ่งพาทางใจของใครหลายคน ความเชื่อที่ว่าอยากหลุดพ้นเคราะห์โศก รวมทั้งสามารถตั้งจิตอธิษฐานขอพรให้สำเร็จได้ 1 อย่าง โดยมีความเชื่อที่ว่าจะต้องขอตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นเดินทางขึ้นเขาไปจนถึงยอดเขาจึงจะสำเร็จตามที่ขอ

4. ไปเขียนขอพรที่ผ้าแดง

     สำหรับการเขียนขอพรที่ผ้าแดงนั้น เริ่มต้นมาจากเดิมพระภิกษุสงฆ์มีการนำผ้าแดงไปกั้นไว้เพื่อป้องกันอันตรายไม่ให้นักท่องเที่ยวพลัดตกไปยังหน้าผา เพราะบริเวณเขาคิชฌกูฏเป็นภูเขาสูงและมีพื้นที่เสี่ยงต่อการพลัดตกอยู่หลายที่ จากนั้นก็มีประชาชนขึ้นมาเขียนคำขอพรไว้บนผ้า จึงมีการเขียนต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

5. ทิวทัศน์มุมสูงที่สวยงาม

     เนื่องจากเขาคิชฌกูฏตั้งอยู่บนยอดเขาสูง จึงเหมาะสำหรับชมความสวยงามของวิวทิวทัศน์ได้กว้าง 360 องศา และอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของเส้นทางการเดินป่าที่อุดมสมบูรณ์ เพราะบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏมีพื้นที่เป็นเทือกเขาสูง เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำห้วยที่สำคัญ ซึ่งลำน้ำเหล่านี้เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำจันทบุรีอีกด้วย ส่วนกิจกรรมของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คือ การเดินป่า,เที่ยวน้ำตก และการส่องสัตว์นานาชนิด

6. ฝึกความอดทนและได้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

     สำหรับการจัดเดินป่าขึ้นยอดเขาคิชฌกูฏถือเป็นงานประเพณีเก่าแก่ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานาน การเดินทางเริ่มต้นที่วัดพลวงไปตามถนนระยะทาง 8 กิโลเมตร จากนั้นลงรถบริเวณจุดร้านขายของซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นทางเดินเขา และต้องเดินเท้าขึ้นไปอีกประมาณ 1.2 กิโลเมตร จนถึงบริเวณลานพระพุทธบาท ซึ่งบริเวณสองข้างทางจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวและนักแสวงบุญจำนวนมาก ด้วยความเชื่อว่าจะได้บุญสูงและเป็นการฝึกจิตใจให้มีความอดทนไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ดังจะเห็นได้จากผู้คนที่มีศรัทธาอันแรงกล้าที่นอกจากจะเดินขึ้นเขาแล้วยังต้องเบียดเสียดผู้คนจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันมีรถบริการให้ประชาชนได้เดินทางขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น

7. ชมความมหัศจรรย์ของหินลูกพระบาท

     และอีกหนึ่งความงดงามและแปลกอัศจรรย์อีกหนึ่งอย่างคือ "หินลูกพระบาท" ก้อนรูปทรงคล้ายบาตรพระสงฆ์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ริมหน้าผาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรอยพระพุทธบาท ซึ่งมีความแปลกที่หินมองดูคล้ายลอยอยู่เฉย ๆ และยังมีหินอีกลูกอยู่ตรงข้ามกับหินลูกพระบาท ที่มีรอยพระหัตถ์ไปรับหินก้อนนี้ จากรอยพระพุทธบาทกับรอยพระหัตถ์นั้นห่างกันประมาณ 5 เมตร และยิ่งแปลกไปกว่านั้นในก้อนหินตรงกันข้ามกับรอยพระหัตถ์ยังมีรูปรอยเท้าใหญ่ ซึ่งเรียกกันว่ารอยเท้าพญามารอีกด้วย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.travel.thaiza.com ,www.kapook.com

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

sendLINE

Comment