SMEs Rice Plus ขายข้าวอย่างไร “ให้ได้ราคา”

1.9K



 

SMEs Rice Plus ขายข้าวอย่างไร “ให้ได้ราคา” - THAIPURCHASING News

 

SMEs Rice Plus ขายข้าวอย่างไร “ให้ได้ราคา”

        สลัดวังวนเก่าทำนาทั้งปี แต่ถูกกดราคาขายข้าว หรือแปรรูปสินค้าแต่หาที่ขายไม่ได้ หากมุมมองเดิมถึงทางตัน ต้องเปลี่ยนวิธีคิด หาตลาด ลูกค้า ช่องทางขายใหม่ ขายข้าวอย่างมีคุณค่าและมูลค่า กล้าแปลกต่างจากบริบทเดิม

           “ข้าว” คือสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาขึ้นลงตามตลาดโลก แถมผู้บริโภคยุคนี้ยังกินข้าวลดลง เพราะคิดว่าข้าวคือแป้ง แหล่งสะสมคาร์โบไฮเดรตสูง กินแล้วอ้วน ขณะที่ชาวนายังติดวังวนขายข้าวเอาปริมาณไม่ได้คุณค่า รัฐจึงต้องเข้าไปปรับการรับรู้ของคนที่มีต่อข้าวในมุมใหม่ ผ่านการจัดประกวด “Rice Plus Award : ข้าว...ก้าวใหม่ หากิมมิคชูโรงใหม่ตลาดข้าวไทย

                 ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ผู้อำนวยการแบรนด์เซ็นเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน มองการส่งเสริมให้เกิดการประกวดพัฒนาสูตรอาหารจากข้าวไทย และกระตุ้นให้คิดค้นนวัตกรรมจากข้าว ภายใต้โครงการดังกล่าว ที่แบ่ง 2 รางวัล คือ สูตรอาหารนานาชาติปรุงจากข้าวไทย และพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าวไทย ว่า เป้าหมายของโครงการ เพื่อต้องการแปลงโฉมข้าวไทยทั้งองคาพยพในบริบทใหม่ๆ ไม่หยุดแค่พัฒนานวัตกรรม วิจัยและพัฒนา แต่สุดท้ายผู้ที่ผ่านเข้ารอบการประกวดจะต้องได้รับการติดปีก ฝึกปรือกลยุทธ์ให้ต่อยอดสิ่งที่คิดแล้วขายให้ได้ราคาในตลาด“ผู้ที่เข้ารอบการประกวดจะต้องขายได้ด้วย จึงต้องรู้ช่องทางการตลาด ลูกค้าเป้าหมายเป็นใคร กลยุทธ์การสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มลูกค้า แม้สินค้าจะมีนวัตกรรมแต่ถ้าขายไม่ได้ก็จบก่อนจะสำเร็จ"

             อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรภาคภูมิใจในจุดแข็งของชาติ คือ ข้าวไทย เป็นมรดกของคนในชาติอยู่ในวิถีชีวิตคนไทยตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษ เป็นการส่งต่อภูมิปัญญาอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน ที่สำคัญข้าวไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ที่อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นสิ่งที่ต้องหยิบขึ้นมาชู ให้คนทั้งโลกรับรู้ทว่า เรื่องแบรนด์ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับข้าวไทยในตลาดโลก ที่เห็นผู้ส่งออกไทยน้อยมากที่จะทำแบรนด์ “ข้าวไทยมีปัญหาเรื่องการสร้างแบรนด์สำเร็จน้อยมาก เพราะคนเข้าใจแค่ว่าทำแบรนด์คือบรรจุภัณฑ์และโลโก้สวยๆ แต่จริงๆ การสร้างแบรนด์เริ่มตั้งแต่ความคิด เรื่องราว การสื่อสาร และกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน”

             ดร.เอกก์ ยังเผยว่า ในเมื่อข้าวไทยมีคุณค่าทางโภชนาการ ประกอบกับเทรนด์โลกต่างเบนสู่การให้ความสำคัญกับสุขภาพ จึงต้องทำให้ผู้บริโภคทั่วโลก สัมผัสถึงคุณค่าของข้าวไทยให้มากขึ้น ที่สำคัญ มีมายาคติหนึ่งที่เราต้องช่วยกันเปลี่ยนความคิดคนทั่วไปที่คิดว่า ข้าวคือสินค้าให้พลังงาน มีคาร์โบไฮเดรตสูง ในความเป็นจริงข้าวไม่ขัดสีให้คุณค่าทางโภชนาการ ทานแล้วไม่อ้วน ทานได้อร่อยเหมือนธัญพืช “โอกาสมีมหาศาลต้องไปสร้างการรับรู้ใหม่เกี่ยวกับข้าวไทย ที่มองข้าวมีแต่แป้งกินแล้วอ้วน แต่จริงๆมีหลากหลายสายพันธุ์ที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย มีสารอาหารมากมายและกินแล้วไม่ฝืดคอเหมือนธัญพืช”

             นอกจากนี้ ตัวอย่างของการสร้างนวัตกรรม หากยังไม่มีทุนทำวิจัยและพัฒนา(R&D) เพียงแค่เปลี่ยนกลุ่มลูกค้าจากที่เคยระบุอายุ เพศ วัย ก็หันมาเน้นกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจด้านสุขภาพ หรือ กลุ่มท่องเที่ยว ก็ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมอีกด้าน เขาเผยและว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีไม่ควรเจาะที่คนกลุ่มใหญ่ (Mass) ต้องหาตลาดเฉพาะ ส่วนชาวนา ก็มีมุมให้เล่น จากการปลูกข้าวอย่างเดียวก็มาขาย“ท่องเที่ยววิถีชุมชน”เปลี่ยนจากการทำนาอย่างเดียวมาเปิดให้คนเข้าชมนา “วิถีชีวิตชาวนาไทยขายได้ ให้คนมาเรียนรู้การทำนาปลูกข้าว เกี่ยวข้าว อย่างที่ทำสำเร็จมาแล้วที่โรงแรมสุโขทัย เฮอริเทจ ค่าที่พักรวมกับดูงาน ทุกระบวนการราคาสูงแต่ก็มีคนยอมจ่าย นั่นแสดงว่าเป็นสิ่งมีคุณค่าและมูลค่า” อีกแนวคิดที่น่าสนใจ ของนวัตกรรมที่ไปเกาะเกี่ยวธุรกิจบางด้าน หรือพัฒนาเป็นคอนเซ็ปต์หาจุดขาย เช่น สปาจากข้าว เสิร์ฟ ทุกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าว นวดด้วยน้ำมันรำข้าว เสิร์ฟเมนูข้าว อาบน้ำด้วยสบู่ข้าว เป็นต้น หรือหากธุรกิจบางราย ผลิตได้ไม่กี่ประเภทสินค้าก็ไปเชื่อมต่อกับธุรกิจที่มีชื่อเสียงโดยการส่งโปรดักส์จากข้าว เช่น สบู่จากข้าว ส่งให้ร้านสปา หรือ ข้าวสีพันธุ์พื้นเมืองให้กับร้านอาหาร  เป็นต้น

            การเข้าร่วมโครงการ "Rice Plus Award 2018 :ข้าว.. ก้าวใหม่” ส่งผลงานเข้าประกวดยังเป็นทางลัดอีกทางที่จะที่ทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ลูกค้ายอมรับในสินค้า และหาช่องทางการจำหน่ายสินค้าได้ง่ายขึ้น ขณะที่หน่วยงานรัฐ มีหน้าที่สร้างแบรนด์ข้าวไทย สู่เวทีโลก ควรกลับมุมคิดชูจุดขายใหม่ที่ไม่ใช่เพียงแค่ขายวัฒนธรรมที่คนต้องมาเรียนรู้ว่าคืออะไร แต่ควรทำเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกันในจุดขายความเป็นประเทศไทย ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้ทำตลาดไว้ ภายใต้ธีมเดียวกันคือ อะเมสซิ่งไทยแลนด์ (Amazing Thailand) แล้วจึงเชื่อมโยงกันกับสินค้าที่คนเข้ามาต้องรู้สึกสนุก และมีความสุขกับสีสันของไทย  ประเทศไทยทำแบรนด์แยกกันในแต่ละอุตสาหกรรม มีทั้งแต่ข้าว อุตสาหกรรม และท่องเที่ยว สูญเสียงบประมาณหลายรอบ จึงควรชูเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วนำสินค้าเข้าไปเชื่อมโยงใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว “นี่คือพลังของแบรนด์ ชาวนาไทยต้องทำงานเหนื่อยกว่าจะปลูกข้าว ไถนา ปรับนา หว่านข้าว รอข้าวออกรวง บางปีเจอน้ำท่วม ขนข้าวไปโรงสี แต่ขายได้สูงสุดตันละ1.2หมื่นบาท แต่หลุยส์ วิตตองใบเดียวเป็นแสน เราต้องขายข้าวเท่าไหร่ถึงจะได้กระเป๋าหลุยส์ ชาวนาจึงต้องใช้ประโยชน์จากคุณค่าที่เรามี”

           อีกกลยุทธ์ชูข้าวไทยในต่างประเทศ คือการร่วมกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ (Co-Brand) ที่จำหน่ายสินค้าไทย เลือกร้านโดดเด่นในแต่ละประเทศ เช่น ไปลอนดอน ต้องไปไทม์สแควร์ ร้านอาหารไทยทีมีชื่อเสียง โปรโมทข้าวไทยในพร้อมกัน

           ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล หรือ เชฟป้อม กรรมการมูลนิธิข้าวไทย หนึ่งในกรรมการรายการ มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ ผู้ตัดสินสูตรอาหารจากข้าวไทย ระบุว่า เป็นจังหวะที่จะต้องดึงข้าวมาพัฒนาเป็นกระแส สร้างสรรค์เมนูหลากหลายที่มีความเป็นสากล ทำให้ข้าวไทยสร้างการรับรู้ไปทั่วโลก ข้าวไทยเป็นแป้งที่ดี ให้คุณค่า “การดึงต่างชาติเข้ามาร่วมประกวด ถือเป็นการเผยแพร่ให้ข้าวไทยรู้จักในวงกว้างทำให้รู้จักข้าวไทยดีต่อสุขภาพ ทานแล้วไม่อ้วน มีหลากหลายสายพันธุ์ ที่นำมาปรุงอาหารมูลค่าก็จะถูกยกระดับขึ้น และเผยแพร่เมนูข้าวไทยได้หลากหลายไปทั่วโลก”

           ดร.ธนธรรศ สนธีระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม เนเชอรัล โปรดักส์ ผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการหยิบเมล็ดข้าว เป็นตัวตั้งต้นต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม มองว่า จากที่เคยปลื้มปริ่มกับแชมป์ส่งออกข้าวในเชิงปริมาณ ต้องพึ่งพาราคาตลาดโลกเป็นเกณฑ์ แม้ขายข้าวอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันยาวนานหลายปีแต่มีกำไรน้อยนิด ต้องเปลี่ยนเซ็กเมนท์ใหม่มาเป็นสินค้าที่ขายคุณค่า มูลค่าสูงกว่า เมื่อแปลงคำว่าข้าว เป็นสินค้ามากกว่าแค่เพื่อการบริโภค พัฒนาเป็นแบรนด์ “เนเจอร์ริช”และ “สโนว์เกิร์ล” ล่าสุดกับการพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิด(สเต็มเซลล์) จากการนำข้าวไรซ์เบอร์รี่ มาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อผลิตเซลล์ที่กระตุ้นให้เกิดสารบางชนิดที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ชะลอวัย “นักธุรกิจที่ไปรอดและยั่งยืนได้ ต้องเอาทั้งกล่อง (รางวัล) และเงินมาพัฒนาต่อยอดสินค้า พร้อมกันกับรางวัล เพื่อสร้างชื่อเสียง นักธุรกิจที่ดีบาลานซ์ทั้งคู่ หากเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อล้มเหลว ก็เท่ากับหายหมด”

          

สูตรขายข้าวดี ได้ราคา

-ย้ายเซ็กเมนท์ตลาดเข้ากับเทรนด์

-ขายวิถีชีวิต ขายไอเดีย ไม่ใช่สินค้าอย่างเดียว

-เกาะเทรนด์สุขภาพ

-โคแบรนด์กับร้านดังในต่างประเทศ

-ดึงต่างชาติมาขยายแบรนด์ไทย

-คู่ขนานสินค้าทำเงินและรางวัล

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.bangkokbiznews.com

 

 

sendLINE

Comment