โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของบังกลาเทศ

2.3K



โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของบังกลาเทศ - THAIPURCHASING News

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของบังกลาเทศ

              เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 นายกรัฐมนตรี Sheikh Hasina เป็นประธานในพิธีเทปูนคอนกรีตเพื่อเริ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกของบังกลาเทศ (Rooppur Nuclear Power Plant – RNPP) อย่างเป็นทางการ ที่เมือง Rooppur ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในปี 2566 และ 2567 และทำให้บังกลาเทศเป็นประเทศที่ 33 ของโลกที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โครงการดังกล่าวมีมูลค่า 12.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นความร่วมมือกับรัสเซีย โดยมีอินเดียเป็นเป็นที่ปรึกษา และร่วมให้การฝึกอบรมให้แก่บุคลากรของบังกลาเทศ

              ปัจจุบัน รัฐบาลบังกลาเทศได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการยกระดับการพัฒนาประเทศเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางภายในปี 2564 และเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2584 ซึ่งจำเป็นต้องรักษาระดับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ทำให้แนวโน้มความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังต้องการกระจายแหล่งพลังงาน นอกเหนือจากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยแก้ไขวิกฤตด้านพลังงานและประกันความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต

              เพื่อสร้างกำลังคนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมนิวเคลียร์ และเพื่อให้การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศประสบความสำเร็จ สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงของบังกลาเทศได้จัดตั้งภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ขึ้น โดยมี University of Dhaka จัดตั้งขึ้นในปี 2555 และ Bangladesh University of Engineering and Technology (BUET) ได้จัดตั้ง Institute of Nuclear Power Engineering เมื่อปี 2559 แม้ว่ายังไม่ได้เปิดสอนอย่างเป็นทางการ แต่มีบทบาทในการคัดเลือกนักศึกษาไปศึกษาต่อที่รัสเซีย

              นอกจากนี้ ภายใต้ข้อตกลงกับ ROSATOM ฝ่ายรัสเซียต้องการให้การฝึกอบรมบุคลากรบังกลาเทศ 1,600 คนสำหรับโครงการนี้ นอกจากนี้ บังกลาเทศยังได้ขอความร่วมมือจากอินเดีย ซึ่งมีประสบการณ์ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กับรัสเซีย โดย BAEC ได้ลงนามความตกลงกับ Department of Atomic Energy (DAE) และ Global Centre for Nuclear Energy Partnership เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2560 ทั้งนี้ DAE จะให้คำปรึกษา และฝึกอบรมแก่บุคลากรของ BAEC ผ่าน GCNEP ทั้งในด้านการกำกับดูแลการก่อสร้าง การเปิดใช้งาน การบำรุงรักษา และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

              ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา ได้มีบทบาทสนับสนุนให้ฝ่ายบังกลาเทศเลือกใช้วัสดุก่อสร้างจากไทย โดยแนะนำกับนาย Nasrul Hamid, State Minister กระทรวงไฟฟ้า พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติ ว่า มีบริษัทวัสดุก่อสร้างไทย 2 บริษัท ได้แก่ SCG และ Siam City  Cement ที่เข้ามาทำธุรกิจในบังกลาเทศ ซึ่งนาย Hamid สนใจผลิตภัณฑ์ของ SCG จึงขอให้ SCG Trading บังกลาเทศ ติดต่อกับ JSC AtomStroyExport ซึ่งรับผิดชอบโครงการก่อสร้าง (contractor) หลังจากที่ได้เจรจากับ JSC แล้วนั้น SCG Trading บังกลาเทศ ได้ให้ Shafi Enterprise และ Good Luck Enterprise ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของ SCG ติดต่อกับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างท้องถิ่น (sub-contractors) ของ JSC ซึ่งในเบื้องต้น ได้มีการสั่งซื้อแผ่นกระเบื้องยิปซัมตราช้างจำนวน 150 – 160 คอนเทอเนอร์สำหรับการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย 17 หลังสำหรับเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้า มูลค่าคอนเทอนเนอร์ละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากบริษัท Shah Cement ซึ่งผู้นำเข้าปูนเม็ด (clinker cement) จา SCG มาบดเป็นปูนซีเมนต์เพื่อจำหน่ายในบังกลาเทศด้วย

 ที่มาข่าวจาก : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา


sendLINE

Comment