ส่องกฎหมายลงทุนฉบับใหม่เมียนมาที่เอื้อต่อธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

1.9K



ส่องกฎหมายลงทุนฉบับใหม่เมียนมาที่เอื้อต่อธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

ส่องกฎหมายลงทุนฉบับใหม่เมียนมาที่เอื้อต่อธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

           ภายหลังการเปิดประเทศ เมียนมาได้กลายเป็นประเทศที่นักลงทุนจากทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยรัฐบาลเมียนมาได้เชื้อเชิญให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้นผ่านการให้สิทธิประโยชน์ รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายด้านการลงทุนเพื่อรองรับการลงทุนที่จะเข้าไปพัฒนาประเทศ

           กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของเมียนมา (Myanmar Investment Law -MIL) ซึ่งเริ่มประกาศใช้เมื่อเดือนเมษายน 2560 นับเป็นเครื่องมือที่นักลงทุนจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ  ดังนั้น สถาน-เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมาจึงได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาเมียนมา    อินไซต์ ครั้งที่ 2 (Myanmar Insight 2017) เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2560 ณ โรงแรมโซฟิเทล แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพ เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจไทยรับทราบและเข้าใจถึงพัฒนาการของกฎหมายการลงทุนเมียนมา และโอกาสที่ภาคธุรกิจไทยจะได้รับ

           โรงไฟฟ้า” เป็นภาคการลงทุนที่รัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญและปรับปรุงกฎหมายการลงทุนเพื่อดึงดูดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากเมียนมาต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดการณ์ว่า ความต้องการไฟฟ้าในเมียนมาร์จะสูงถึง 54,608 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ในขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าปัจจุบันของเมียนมา มีเพียง 4,900 เมกะวัตต์ และพบว่าพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเมียนมาที่น่าสนใจภายใต้การปรับปรุงกฎหมายไฟฟ้านับตั้งแต่ปี 2557 อาทิ

           – สิทธิ์ในการสร้างโรงไฟฟ้าโดยไม่จำกัดขนาด

           – ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ

           – ยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในช่วงก่อสร้างโครงการ

           – สิทธิ์ในการลดค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร อุปกรณ์ อาคาร และสินทรัพย์ทุนอื่น ๆ ซึ่งบริษัทใช้

           ในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล หลังการคำนวณอัตราลดของค่าเสื่อมราคาภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยรัฐบาลเมียนมา

           – สิทธิ์ในการหักค่าใช้จ่ายจากรายได้พึงประเมิน อาทิ ค่าใช้จ่ายด้านงานวิจัยและการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการ  ในเมียนมา

           – สิทธิ์ในการยกยอดผลขาดทุนสุทธิไปหักเป็นรายจ่ายในอีก 3 รอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกัน และ

           – การรับประกันจากรัฐบาลเมียนมาว่าจะไม่มีการยึดกิจการมาเป็นของรัฐระหว่างดำเนินการ หรือหากมีการยึดกิจการ รัฐบาลจะจ่ายค่าชดเชยให้ตามมูลค่าจริงขณะนั้น

           นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังสามารถกระจายความเสี่ยงด้วยการหาพันธมิตรในการร่วมลงทุน โดยสามารถจ่ายค่าสัมปทานให้แก่รัฐบาลเมียนมาในลักษณะให้ไฟฟ้าฟรี ร้อยละ 10-15 ของไฟฟ้าที่ผลิต หรือจ่ายในรูปของการให้หุ้นร่วมทุนได้ถึงร้อยละ 10-15 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ขณะที่การรับซื้อไฟฟ้าจะมีอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 50 ของกำลังผลิตทั้งหมด เป็นต้น

           กฎหมายลงทุนฉบับใหม่ของเมียนมายังได้ขยายขอบเขตการซื้อขายหุ้นในกิจการท้องถิ่น จากเดิมจำกัดให้ซื้อขายได้เฉพาะส่วนที่ถือครองโดยธุรกิจต่างชาติเท่านั้น เป็นให้ซื้อขายส่วนที่ถือครองโดยผู้ถือหุ้นท้องถิ่นได้ในสัดส่วนสูงสุดถึง 35% ซึ่งการอนุมัติโครงการลงทุนยังสามารถขออนุมัติจากคณะกรรมาธิการส่งเสริมการลงทุนแห่งเมียนมา (Myanmar Investment Committee-MIC) หรือ รัฐบาลท้องถิ่นเพื่อความรวดเร็วได้ ขณะที่การยกเว้นภาษีจะมีระยะเวลาตามโซนพื้นที่เศรษฐกิจจะทำให้เกิดการยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่มากขึ้น

           แม้เมียนมาเป็นประเทศที่มีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและเปิดเสรีมากขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยง ผู้ประกอบการควรหาพันธมิตรทางการค้า ตลอดจนศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ของกิจการการลงทุนนั้น ๆ อย่างละเอียดอีกครั้ง

ที่มาข่าว : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง , http://globthailand.com/myanmar_0014/
ภาพประกอบ :
https://crazyelectrical.com/wp-content/uploads/2017/09/site-selection-for-hydroelectric-power-plant.jpg


sendLINE

Comment