จีนรุกวิจัยข้าวพันธุ์ใหม่ (ข้าวยักษ์ ข้าวน้ำทะเล ข้าวไร้แคดเมียม) ทยอยอวดสายตาชาวโลก

1.8K



จีนรุกวิจัยข้าวพันธุ์ใหม่ (ข้าวยักษ์ ข้าวน้ำทะเล ข้าวไร้แคดเมียม) ทยอยอวดสายตาชาวโลก

ในรอบปี 2560 ที่ผ่านมา จีนสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับชาวโลกด้วยข่าวการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ที่ทยอยปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถิติใหม่ผลผลิตต่อหน่วยของข้าวไฮบริด (ข้าวลูกผสม) ข้าวยักษ์ที่มีลำต้นสูงถึง 2.25 เมตร ข้าวน้ำทะเลหรือข้าวที่ปลูกได้ในดินเค็ม และข้าวพ่อ/แม่พันธุ์ที่ปราศจากแคดเมียม

หากใครที่ติดตามข่าวเรื่องข้าวไฮบริดของจีนจะทราบดีว่า จีนได้พัฒนาข้าวไฮบริดมานานกว่า 50 ปี เริ่มต้นจากการที่นายหยวน หลงผิง ได้พบการผสมพันธุ์ข้าวโดยบังเอิญในแปลงนาทดลอง ขณะเป็นอาจารย์โรงเรียนเกษตรในตำบลอานเจียง มณฑลหูหนาน ทางตอนกลางของจีน และประสบความสำเร็จในการวิจัยข้าวไฮบริด ต่อมา ปี 2527 รัฐบาลจีนได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยข้าวลูกผสม (Hunan Hybrid Rice Research Center) ในนครฉางซา มณฑลหูหนาน (ปี 2538 ยกระดับจากมณฑลเป็นระดับประเทศ ใช้ชื่อว่า China National Hybrid Rice R&D Center) เพื่อทำหน้าที่ต่อยอดการพัฒนาข้าวไฮบริด ทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิตต่อหน่วย และการประชาสัมพันธ์ข้าวไฮบริดให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยมีนายหยวนเป็นประธาน ซึ่งภายหลังได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งข้าวไฮบริดของจีน”

ในช่วงปี 2539 ศูนย์ดังกล่าวได้ริเริ่มโครงการพัฒนาข้าวไฮบริดให้กลายเป็นซุปเปอร์ไฮบริด (Super Hybrid Rice) ที่ให้ผลผลิตต่อหน่วยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้าวซุปเปอร์ไฮบริดรุ่นที่ 1 (ปี 2543) ให้ผลผลิต 700 กก./หมู่ (2.4 หมู่ เท่ากับ 1 ไร่) จนล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ผลิตข้าวได้ 1,149.02 กก./หมู่ หรือ 17.2 ตัน/เฮคตาร์ บนแปลงนาทดลองในเขตหย่งเหนียน เมืองหานตาน มณฑลเหอเป่ย ด้วยพันธุ์ข้าวชื่อว่า “เซียงเหลี่ยงอิว 900” (湘两优900) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนายหยวนฯ กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การเกษตรของมณฑลเหอเป่ย โดยได้ทำลายสถิติเดิมของปี 2559 ที่ 16 ตัน/เฮคตาร์ ทะลุเป้าขึ้นไปอีกขั้น และยังคงครองแชมป์ข้าวที่มีจำนวนผลผลิตต่อหน่วยสูงสุดในโลก

นอกเหนือจากข้าวไฮบริด จีนยังได้พัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่อยู่ตลอดเวลา โดย “ข้าวยักษ์” เป็นอีกหนึ่งข้าวพันธุ์ใหม่ที่ได้เริ่มวิจัยมาตั้งแต่ปี 2550 นำโดยนายเซี่ย ซินเจี้ย หัวหน้านักวิจัยของสถาบันวิจัยเกษตรพื้นที่กึ่งเขตร้อน สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (The Institute of Subtropical Agriculture (ISA), Chinese Academy of Sciences (CAS)) จนออกมาเป็นข้าวยักษ์สายพันธุ์ “เซียงจวี่ 1” (湘巨1) และ “เซียงจวี่ 2”(湘巨2) และในปี 2556 ได้นำไปทดลองปลูกในแปลงนาแห่งหนึ่งของเมืองฉางเต๋อ มณฑลหูหนาน ซึ่งได้รับความสำเร็จในระดับหนึ่ง ต่อมา ปี 2559 นายเซี่ย ซินเจี้ย ได้ร่วมกับเครือบริษัทเซี่ยงเฟิง (ทำธุรกิจด้านชา มันเทศ ข้าว และนม โดยเป็นผู้ผลิตชาที่มีชื่อเสียงของมณฑลหูหนาน และมีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์จีนในการสร้างเขตสาธิตชาออร์แกนิค) ทดลองปลูกข้าวยักษ์ในนครฉางซา เพื่อทดสอบปริมาณผลผลิตและคุณภาพให้เพิ่มจากปี 2556 ขึ้นไปอีกขั้น จนล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2560 สามารถพัฒนาให้ข้าวยักษ์โตเต็มวัย มีความสูงของลำต้นโดยเฉลี่ย 1.8 เมตร (ต้นข้าวทั่วไปมีความสูง 1.2-1.5 เมตร) สูงสุดถึง 2.25 เมตร และให้ผลผลิตต่อหมู่โดยเฉลี่ยกว่า 800 กก. สูงสุดถึง 1,000 กก. (2,400 กก./ไร่) และในอนาคตจะพัฒนาผลผลิตต่อหน่วยให้เพิ่มขึ้นไปอีก

ปัจจุบัน ข้าวยักษ์ได้รับการยอมรับให้เป็นข้าวพันธุ์ใหม่ที่ผ่านการตรวจสอบจากศูนย์ทดสอบพืชพันธุ์ใหม่ กระทรวงเกษตรจีน และยังได้ขยายผลการปลูกในหลายเมืองของมณฑลหูหนาน โดยจุดเด่นของข้าวยักษ์ นอกจากจะให้ผลผลิตสูงแล้ว ยังมีลำต้นแข็งแรง ทนต่อการล้ม ต้านทานโรคพืชและแมลงศัตรูพืช และทนต่อน้ำท่วมขังได้ดี โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช และยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ ทางสถาบันยังปลูกข้าวร่วมกับการเลี้ยงกบและปลาในแปลงนา โดยข้าวหนึ่งหมู่จะได้กบกว่า 1,000 กก. และปลา 300 กก. สร้างรายได้เพิ่มอีกกว่า 50,000 หยวน/หมู่

ข้าวที่สร้างความฮือฮาและเป็นข่าวดังในเวลาไล่เลี่ยกันอีกหนึ่งชนิดก็คือ ข้าวน้ำทะเลที่ปลูกได้ในดินเค็มหรือข้าวทนน้ำเค็ม ที่ค้นพบโดยนายเฉิน รื่อเซิ่ง นักวิทยาศาสตร์การเกษตรในมณฑลกวางตุ้ง ตามมาด้วยข้าวน้ำทะเลที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวน้ำทะเลเมืองชิงต่าว มณฑลซานตง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเมืองชิงต่าว นายหยวน หลงผิง และ China National Hybrid Rice R&D Center

นายเฉิน รื่อเซิ่ง ได้ใช้เวลาในการวิจัยข้าวที่ปลูกได้ในดินเค็มมานานเกือบ 30 ปี ซึ่งเรียกข้าวพันธุ์ใหม่ชนิดนี้ว่า “ไหสุ่ยเต้า” แปลว่า ข้าวน้ำทะเล แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ข้าวน้ำทะเลไม่ใช่ข้าวที่ปลูกในทะเล แต่เป็นข้าวที่ปลูกได้ในดินเค็มที่มีปริมาณความเข้มข้นของเกลือที่ต่ำกว่าร้อยละ 1 (น้ำทะเลมีปริมาณความเข้มข้นของเกลือที่ร้อยละ 3-5)

นายเฉินได้เริ่มต้นวิจัยข้าวน้ำทะเลร่วมกับอาจารย์ของตน หลังสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง ในปี 2529 ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเฉิน โดยได้ค้นพบข้าวป่าชนิดหนึ่งที่ทนต่อความเค็มของน้ำทะเลหรือสามารถต้านทานระดับความเข้มข้นของเกลือได้ดี จึงเริ่มต้นวิจัยและทดลองข้าวที่ปลูกในดินเค็มได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แต่กว่าจะประสบความสำเร็จในการวิจัยข้าวพันธุ์ใหม่สักหนึ่งชนิดนั้นไม่ได้มาได้โดยง่าย นายเฉินใช้เวลากว่า 5 ปี ในการวิจัยและคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดีที่สุด จากนั้นยังต้องทดลองปลูกในแปลงนาอย่างน้อย 8 ครั้ง หรือประมาณ 4-5 ปี จนเกิดเป็นข้าวพันธุ์ใหม่ชื่อว่า “ข้าวน้ำทะเล 86” (海水稻10)

แม้จะใช้เวลาหลายปีกว่าจะเป็นข้าวพันธุ์ใหม่ แต่ข้าวน้ำทะเลก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการปลูกเชิงพาณิชย์ เนื่องจากข้าวน้ำทะเลในช่วงเริ่มต้นให้ผลผลิตต่อหมู่น้อย แต่ต่อมา หลังจากโครงการของนายเฉินได้รับความสนใจจากนายหยวน หลงผิง และกระทรวงเกษตรจีน จนกลายเป็นโครงการระดับประเทศ ทำให้นายเฉินประสบความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตจาก 100 กก./หมู่ เป็น 300 กก./หมู่ ในปี 2557 และมีสื่อมวลชนให้ความสนใจทำข่าวมากมาย เกิดเป็นกระแสโด่งดัง จนนายเฉินได้ฉายาว่า “บิดาแห่งข้าวน้ำทะเล”

และล่าสุด ในช่วงกันยายนของปี 2560 มีข่าวว่า ข้าวน้ำทะเลที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวน้ำทะเลเมืองชิงต่าวได้สร้างสถิติผลผลิตสูงสุดถึง 620.95 กก./หมู่ (1490 กก./ไร่) โดยปลูกในดินเค็มที่มีปริมาณความเข้มข้นของเกลือร้อยละ 0.6 และมีแผนจะขยายผลผลิตข้าวน้ำทะเลโดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปลูกเพิ่มเป็น 100 ล้านหมู่ ภายใน 5 ปีข้างหน้า

ปัจจุบัน ข้าวน้ำทะเลภายใต้แบรนด์ “หยวนหมี่” ซึ่งบริษัท Yuan Ce Biological Technology ผู้เป็นเจ้าของได้ให้เกียรติใช้แซ่หยวนของ “บิดาแห่งข้าวลูกผสมของจีน” มาเป็นชื่อแบรนด์ของข้าวด้วย ได้วางจำหน่ายบนออนไลน์ครั้งแรกในเว็บไซต์ชื่อดังของจีนอย่าง Tmall มีทั้งขนาดบรรจุ 1 กก. และ 5 กก. ซึ่งขนาดบรรจุ 1 กก. ขายในราคา 55 หยวน แพงกว่าข้าวทั่วไปถึง 8 เท่า 

ในส่วนของข้าวไร้แคดเมียม ต้องขอเกริ่นก่อนว่า แม้จีนจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก แต่ข่าวมลภาวะในประเทศจีนทั้งในดิน น้ำ และอากาศก็มีออกมาอยู่ตลอดเวลา และที่เป็นข่าวดังในปี 2556 คือ ปัญหาข้าวมีปริมาณสารแคดเมียมปนเปื้อนเกินมาตรฐานความปลอดภัย อันเนื่องมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดดและการละเลยของโรงงานที่ปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำและดิน

และที่สร้างความตกใจมากยิ่งขึ้นเมื่อมีข่าวการยอมรับจากทางการจีน รวมถึงข่าวจากหลายสำนักที่ระบุว่า ที่ดินเกือบ 1 ใน 5 บนแดนมังกรปนเปื้อนสารพิษ ไม่ว่าจะเป็นแคดเมียม สารหนู ปรอท และโลหะหนักอีกหลายตัว ซึ่งรวมพื้นที่เพาะปลูกเป็นบริเวณกว้าง และข้าวจีนเกือบร้อยละ 10 ปนเปื้อนแคดเมียมเกินมาตรฐาน ซึ่งพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษหนักที่สุด ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมบนพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงทางภาคใต้ และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ 

ที่น่าเป็นกังวลคือ สารแคดเมียมเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์และมีการสะสมในระยะยาว จะก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคไต โรคกระดูกอ่อนและโรคกระดูกผุ หนักหน่อยก็รุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็ง

แต่ท่ามกลางข่าวร้ายย่อมมีข่าวดี โดยเมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา ภายในงานสาธิตเทคโนโลยีและข้าวพันธุ์ใหม่ที่มณฑลหูหนาน นายหยวน หลงผิง บิดาแห่งข้าวลูกผสมได้เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ ได้ค้นพบเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยสามารถขจัดแคดเมียมที่แฝงอยู่หรือยีนที่ดูดซับแคดเมียมในข้าวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ออกไป ทำให้พ่อแม่พันธุ์สะอาด และได้เมล็ดข้าวที่สะอาดไปด้วย ทั้งนี้ ยังไม่มีข่าวรายงานว่า ข้าวไร้แคดเมียมพัฒนาสำเร็จมากน้อยแค่ไหนและเริ่มทดลองปลูกในพื้นที่ใดบ้าง

บทสรุป

จีนเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ มีพื้นที่ 9.63 ล้าน ตร.กม. ใหญ่กว่าประเทศไทยเกือบ 19 เท่า และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ลักษณะภูมิประเทศมีความหลากหลาย โดยตอนเหนือส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาและทะเลทราย ตอนใต้เป็นป่าฝนกึ่งโซนร้อน ภาคตะวันตกเป็นเทือกเขา และภาคตะวันออกติดทะเล ปัจจุบัน จีนมีประชากรเกือบ 1,400 ล้านคน มากเป็นอันดับ 1 ของโลก และคาดการณ์กันว่าภายในปี 2563 จีนจะมีประชากรเพิ่มเป็น 1,450 ล้านคน แน่นอนว่าความต้องการอาหารและธัญพืชก็ย่อมมากตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักที่สำคัญของชาวจีนกว่าร้อยละ 65

ในอดีต จีนเคยประสบปัญหาขาดแคลนธัญพืช เข้าขั้น “อาการหนัก” ต่อมา บิดาแห่งข้าวลูกผสมได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่เน้นปริมาณผลผลิตในช่วงแรก และกลายเป็นข้าวซุปเปอร์ไฮบริด ที่มีจำนวนผลผลิตต่อหน่วยสูงสุดในโลก ปัจจุบัน จีนยังคงพัฒนาข้าวไฮบริดที่ไม่ได้เน้นเพียงแค่ปริมาณผลผลิต แต่ยังเน้นคุณภาพ เพื่อให้เทียบเท่าข้าวคุณภาพดีของไทยอย่างข้าวหอมมะลิในอนาคต

ควบคู่ไปกับการพัฒนาข้าวไฮบริด จีนยังได้พัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ออกมาเรื่อย ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกันออกไป อาทิ ข้าวทนน้ำเค็มที่จะสามารถปลูกได้ทางตะวันออกเลียบชายฝั่งทะเลของจีน ข้าวยักษ์ที่จะยืนหยัดได้ในยามน้ำท่วมขังของพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ของจีน รวมถึงการพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อแก้ไขปัญหาข้าวปนเปื้อนโลหะหนักและสร้างความปลอดภัยทางอาหารอย่างข้าวไร้แคดเมียม ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และลดการพึ่งพาการนำเข้า ตามนโยบาย “สังคมพออยู่พอกิน” ของจีน

ที่มาข่าวจาก : ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครคุนหมิง ,


sendLINE

Comment