โอกาสดีของผู้ประกอบการสินค้าแมลงเพื่อบริโภคไทย

1.3K



โอกาสดีของผู้ประกอบการสินค้าแมลงเพื่อบริโภคไทย - THAIPURCHASING NEWs

โอกาสดีของผู้ประกอบการสินค้าแมลงเพื่อบริโภคไทย
เมื่อสหภาพยุโรปปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วยเรื่อง “อาหารใหม่ (Novel Foods)”

         สหภาพยุโรปได้ปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วยเรื่อง “อาหารใหม่ (Novel Foods)”แทนกฎระเบียบเดิมที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2540 เพื่อให้สอดคล้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตอาหารในปัจจุบันที่มีความซับซ้อนและหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดย “อาหารใหม่” หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่ไม่มีประวัติการบริโภคภายใน EU ก่อนวันที่ 15 พ.ค. 2540 แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1.อาหารที่สกัดหรือพัฒนาด้วยนวัตกรรมใหม่ (New Substance) 2.อาหารที่ผลิตจากแหล่งโภชนาการใหม่ (New Source) 3.อาหารที่ผลิตจากกรรมวิธีรูปแบบใหม่ (New Technique) และ 4.อาหารพื้นบ้านที่มีการบริโภคนอก EU มาแล้วไม่ต่ำกว่า 25 ปี (Traditional Food in 3rdCountries) ซึ่งหมายรวมถึงอาหารประเภท “แมลง” ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถแสวงหาโอกาสจากกฎระเบียบใหม่นี้ได้

         กฎระเบียบใหม่นี้ ได้ปรับลดขั้นตอนการขออนุญาตจดทะเบียน โดยรวมศูนย์การพิจารณาคำร้องขึ้นทะเบียนอาหารใหม่เป็นของ EU ทั้งหมด และตั้งหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA) ให้เป็นหน่วยงานประเมินผลความปลอดภัยอาหารใหม่ โดยจำกัดระยะเวลาการพิจารณาในแต่ละขั้นตอนให้กระชับมากขึ้น ซึ่งใช้เวลาประมาณ 18 เดือนสำหรับจดทะเบียนอาหารใหม่ทั่วไป และประมาณ 5 – 11 เดือนสำหรับอาหารพื้นบ้าน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2561 เป็นต้นไป

         แม้การบริโภคแมลงจะเริ่มได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้น เนื่องจากเป็นอาหารทางเลือกที่มีโปรตีนสูง ราคาไม่แพง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ตลาดสินค้าแมลงใน EUยังจำกัดอยู่ในวงแคบ อย่างไรก็ตาม หากนำไปแปรรูปเป็นเส้นพาสต้าหรือเป็นส่วนผสมในเบอร์เกอร์เพื่อเพิ่มโปรตีน ก็จะยิ่งทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกแมลง ควรพิจารณาหลักการสากลด้านการผลิตและควบคุมมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงมาตรฐาน GAP ในฟาร์ม มาตรฐาน GMP ในโรงคัดบรรจุและโรงงานแปรรูป มาตรฐาน HACCP สำหรับโรงงานแปรรูป และติดฉลากสินค้าที่ชัดเจนตามกฎระเบียบ EU regulation 1169/2011 สามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ผ่านทางเว็บไซต์ www.acfs.go.th หรือทางหมายเลขโทรศัพท์ 02-561-2277

ที่มาข่าวจาก : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ , http://globthailand.com/europe_0002/
ภาพประกอบ :


sendLINE

Comment