กวางตุ้งกับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม

1.5K



กวางตุ้งกับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม

กวางตุ้งกับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม

มณฑลกวางตุ้งมียุทธศาสตร์การพัฒนาโดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัยมาเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557

           ผลจากการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2556 – 2559) ทำให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นมูลค่ากว่า 203,500 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 2.56 ของ GDP รวมของมณฑลกวางตุ้ง รวมถึงมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ถือครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ร้อยละ 71 ซึ่งได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงคิดเป็นร้อยละ 27.6 ของมูลค่าอุตสาหกรรมรวม ส่งผลให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของมณฑลมีผลกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของจีนทั้งประเทศ

            ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว มณฑลกวางตุ้งได้กำหนดให้พื้นที่เศรษฐกิจบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (PRD) เป็นเขตพัฒนาด้านนวัตกรรม ซึ่งครอบคลุมเมืองในมณฑลกวางตุ้ง 9 เมือง โดยมีเมืองเซินเจิ้นและนครกว่างโจวเป็นเมืองหลัก มีเมืองรองอีก 7 เมือง ได้แก่ ตงก่วน หุ้ยโจว จูไห่ จงซาน ฝอซาน เจียงเหมิน และจ้าวซิ่ง โดยได้ปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว จากอุตสาหกรรมเบา อันได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตรองเท้า กระเป๋า และเสื้อผ้า ให้เป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตโดยใช้นวัตกรรมหรือเครื่องจักรการผลิตที่ทันสมัย ควบคุมด้วยเครื่องจักรแทนการใช้แรงงานคน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย Made in China 2025 ของรัฐบาลกลาง

            นอกจากนี้ ด้านสังคมและความเป็นอยู่ของประชาชน ยังกำหนดให้เขตดังกล่าวเป็นเขตของการใช้ Internet + (Internet Plus) ในการสร้างอาชีพ รวมทั้งเป็นเขตของการใช้รถโดยสาร ประกอบด้วยรถเมล์สาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคล แบบใช้ไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาดอีกด้วย โดยกำหนดให้มีระบบการตรวจสอบในเชิงสถิติที่สามารถตรวจวัดได้ เพื่อความสะดวกในการติดตามความก้าวหน้า

           มณฑลกวางตุ้งยังคงรักษาตำแหน่งมณฑลที่มี GDP สูงเป็นอันดับหนึ่งของจีน ติดต่อกันเป็นปีที่ 28 โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ในปี 2559 GDP ของมณฑลกวางตุ้งมีมูลค่า 7.95 ล้านล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 10.7 ของ GDP ทั้งประเทศ ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ นอกจากการเป็นเมืองหน้าด่านในการค้ากับต่างประเทศแล้ว ยังเกิดจากการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่สอดประสานกันทั้งในแนวดิ่ง (สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย) และแนวนอน (พื้นที่การพัฒนา)

           ในแนวดิ่ง ได้มีการผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมของมณฑลปรับเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมเบาไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีซึ่งมีมูลค่าสูง ซึ่งเป็นตัวแบบของการสร้าง positioning ให้กับผลิตภัณฑ์ของจีนที่ทัดเทียมระดับโลก นำไปสู่การรับรู้สินค้าภายใต้แบรนด์จากจีน เช่น Huawei Tencent Kingsoft Midea และ Haier เป็นต้น ในแนวนอน มีการกำหนดพื้นที่เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการสอดประสานทั้งภายในเมืองต่าง ๆ ของมณฑลในกรอบ PRD และเชื่อมโยงกับมณฑลอื่น ภายใต้กรอบ PPRD และ Greater Bay Area

ที่มาข่าวจาก : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว, http://globthailand.com/china_0070/

ภาพประกอบ : http://www.allbusinessideas.net/gallery/types-of-innovation/types-of-innovation.jpg, http://www.health.pa.gov/Your-Department-of-Health/innovation/PublishingImages/What%20is%20innovation.jpg


banner ลงทะเบียน PinGs ครั้งที่ 31 ที่ ร.ร.เมเปิล โซนชลบุรี 19 ม.ค. 61

sendLINE

Comment