ธุรกิจสปาในเวียดนามกับโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยต้องรู้

2.0K



ธุรกิจสปาในเวียดนามกับโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยต้องรู้

ธุรกิจสปาในเวียดนามกับโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยต้องรู้

           เวียดนามหนึ่งในประเทศภูมิภาคเอเชียที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง อัตราการขยายตัวร้อยละ 6-7 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะใน กรุงฮานอย ดานัง และนครโฮจิมินห์  ข้อมูลจากกระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนามระบุว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 มีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศรวม 21,932.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นโครงการที่เข้ามาลงทุนใหม่จำนวน 1,408 โครงการ ประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด คือ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน ตามลำดับ สาขาที่มีการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป การทำเหมืองแร่ อสังหาริมทรัพย์ การค้าและการซ่อมบำรุงรถยนต์และรถจักรยานยนต์  เป็นต้น

           ภาวะเศรษฐกิจของเวียดนามที่เติบโต นำมาซึ่งการเพิ่มปริมาณกลุ่มชนชั้นกลาง ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) ระบุว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า เวียดนามจะมีประชากรระดับชนชั้นกลางถึงกว่า 30 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวกว่า 3,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน/ปี  ซึ่งจะทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ภาคบริการมีแนวโน้มที่จะเติบโต ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ภาคบริการของเวียดนามเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 6.85

           กลุ่มธุรกิจสปา สุขภาพและความงามเป็นธุรกิจบริการหนึ่งที่กำลังเติบโตขึ้น และได้รับความนิยมมากในเวียดนาม ด้วยกำลังซื้อของชาวเวียดนามที่มีรายได้และหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ปัจจุบันการทำธุรกิจสปาในเวียดนาม มี 2 รูปแบบ คือ 1. ธุรกิจสปาขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งอยู่ในโรงแรมและรีสอร์ทระดับ 4-5 ดาว มีค่าใช้บริการสูง 100-500 ดอลลาร์สหรัฐ/ครั้ง และ 2. ธุรกิจสปาสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางที่เปิดให้บริการอย่างแพร่หลาย ค่าใช้บริการ 10-50 ดอลลาร์สหรัฐ/ครั้ง ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SME โดยบางแห่งจะมีบริการต่อยอดจากธุรกิจเสริมความงามโดยเพิ่มการนวดตัวและนวดฝ่าเท้า

           ธุรกิจสปา สุขภาพและความงามในเวียดนามมีการแบ่งกลุ่มลูกค้าไว้อย่างชัดเจน เป็นกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียมและกลุ่มลูกค้าระดับกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าระดับกลางนั้นมีกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี มีรายได้ปานกลาง เพราะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ ทั้งนี้ประเภทของสปาที่ชาวเวียดนามกลุ่มนี้นิยม ได้แก่ การนวดผ่อนคลายตัว การขัดตัว และการดูแลผิวหน้า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการบริการไม่สูง กลยุทธ์การแบ่งกลุ่มลูกค้าจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้ธุรกิจสปาในเวียดนามเป็นที่นิยมมากขึ้น

           ปัจจุบัน ธุรกิจสปาของเวียดนามมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการมีคุณภาพของการให้บริการดีขึ้น ผู้ประกอบการแต่ละรายมีลักษณะการดึงดูดลูกค้า มีบริการลักษณะเฉพาะมากยิ่งขึ้น เช่น  การทำสปาในช่วงฤดูร้อน การทำสปาช่วงฤดูหนาว การรักษาผิวหน้า การนวดแผนโบราณแบบเวียดนาม เป็นต้น นอกจากการบริการแล้ว การคัดเลือกผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบ ในการทำสปาเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง อาทิ (1) ผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันอโวคาโด (2) ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงที่มีมาตรฐานสากล (3) ผลิตภัณฑ์โฮมเมด ที่ทำจากสมุมไพรเวียดนาม เช่น น้ำมันที่สกัดจากบัวและข้าว และ (4) ผลิตภัณฑ์ ระดับพรีเมียม และหายากในตลาด เน้นการรักษาริ้วรอย สิว ฝ้า เป็นต้น

           ไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในบริการด้านสปา สุขภาพและความงาม โดยชาวเวียดนามก็ยอมรับผู้ประกอบการไทยเช่นกัน ผลิตภัณฑ์สปาที่ทำจากสมุนไพรไทยก็เป็นที่ชื่นชอบในตลาดเวียดนาม อาทิ สบู่สมุนไพร ลูกประคบสมุมไพร น้ำมันนวด ไทยยังมีชื่อเสียงด้านการนวดแผนไทยและมีผู้เชี่ยวชาญ  ทำให้ธุรกิจสปาในเวียดนามของผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสสูง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ดานัง และญาจาง ปัจจุบันเวียดนามยังพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์สปา เป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์สปาของไทย ที่จะเข้าไปทำตลาดในแหล่งชอปปิ้งของเวียดนามได้ รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในเวียดนาม

           จะเห็นว่าโอกาสของภาคธุรกิจบริการด้านสปา สุขภาพและความงามของผู้ประกอบการไทยซึ่งมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญสามารถเข้าไปทำการค้าการลงทุนในเวียดนามยังคงเปิดกว้าง ฉะนั้นผู้ประกอบการไทยที่สนใจต้องศึกษาตลาด ทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับตลาดเวียดนาม รวมถึงการศึกษากฎระเบียบต่างๆ เพื่อขยายตลาดและต่อยอดธุรกิจในเติบโตยิ่งขึ้น

ที่มาข่าวจาก : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย, http://globthailand.com/vietnam_0051/


 

sendLINE

Comment