เครื่องดื่มนมถั่วเหลืองไทย กับมุมมองการเปิดตลาดสินค้าไทยในแอฟริกา

2.5K



“เครื่องดื่มนมถั่วเหลืองไทย” กับมุมมองการเปิดตลาดสินค้าไทยในแอฟริกา

ทวีปแอฟริกาถือเป็นหนึ่งในตลาดการค้า-การลงทุนที่มีศักยภาพ เนื่องจากเป็นทวีปที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 1,200 ล้านคน มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในทุกด้าน จนเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในแอฟริกา ปัจจุบันตลาดแอฟริกาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากกำลังซื้อของประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อคนสูงขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้ภาคการผลิตไม่สามารถตอบสนองปริมาณความต้องการบริโภคได้ ส่งผลให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และนี่เองคือโอกาสให้นักลงทุนทั่วโลกสามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดอันมีศักยภาพแห่งนี้ได้

          คุณน้ำเพชร ตติยวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจต่างประเทศ บริษัท กรีนสปอร์ต จำกัด (บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำนมถั่วเหลืองภายใต้แบรนด์ “ไวตามิ้ลค์”) ได้แนะแนวทางและให้คำแนะนำที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปทำการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาผ่านหัวข้อ “A Success story of Thai Business” ภายในงาน “จับตาแอฟริกา: Eyes on Africa 2017” เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560  โดยได้กล่าวว่า บริษัท กรีนสปอร์ต จำกัด เป็นบริษัทหนึ่งที่เห็นโอกาสการค้าการลงทุนในตลาดทวีปแอฟริกา เพราะเห็นถึงจำนวนผู้คนอันมหาศาล และเป็นตลาดใหม่ ซึ่งทำให้โอกาสทางการค้าการลงทุนยังมีอีกจำนวนมาก โดยจุดเริ่มต้นที่บริษัทสนใจเข้าไปทำธุรกิจในทวีปแอฟริกาคือ แถบภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ ประเทศกาน่า และ ไนจีเรีย อย่างไรก็ดี การเข้าไปทำตลาดใน 2 ประเทศนี้มิใช่เรื่องง่าย ต้องศึกษาหาข้อมูลต่าง ๆ มากมาย และต้องจับมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น อันเป็นกุญแจสำคัญในการนำสินค้าของเราเข้าไปทำตลาด ซึ่งคู่หูทางธุรกิจท้องถิ่นจะต้องเป็นที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ ในกรณีของบริษัทฯ ถือว่าโชคดีที่ได้รู้จักคู่ธุรกิจจากงานแสดงสินค้าและร่วมทำการค้าด้วยดีตลอดมา

          จากประสบการณ์การทำธุรกิจในทวีปแอฟริกา ถือว่าเป็นตลาดที่มีความท้าทายอย่างมาก เพราะตลาดทวีปแอฟริกาถือเป็นตลาดใหม่ มีระยะห่างจากประเทศไทยมาก ดังนั้น จะต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ได้แก่  1. ด้านกฎหมาย (Trademark) การทำธุรกิจในทวีปแอฟริกาจำเป็นต้องทราบและปฏิบัติตามกฎหมาย อาทิ การจดทะเบียนสินค้า  การตรวจตราสินค้า (Import Regulations)  การห้ามนำเข้า (Import Ban)  ความปลอดภัย (Security/Safety) ซึ่งกระบวนดังกล่าวส่งผลต่อต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และหากเกิดปัญหาขึ้นก็มีโอกาสที่จะส่งผลต่อธุรกิจได้  2. ด้านการเงิน ปัจจัยเสี่ยงด้านค่าเงินซึ่งเกิดจากการผันผวนของสกุลเงินดอลลาร์ ตัวอย่างเช่น ประเทศไนจีเรีย เมื่อเริ่มต้นเข้าไปทำธุรกิจ ค่าเงินของไนจีเรียมีมูลค่าสูงกว่าปัจจุบัน 3 เท่า ทำให้การค้าขายคล่องตัวสูง แต่เทียบกับปัจจุบันค่าเงินลดลง ส่งผลให้บริษัทต้องปรับตัวช่องทางในการทำธุรกิจมากยิ่งขึ้น 3. ระบบการขนส่ง โลจิสติกส์ ด้วยระยะทางที่ห่างไกลกัน รวมถือระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจ ทำให้ปัจจุบันยังไม่ค่อยมีความสะดวกสบายมากนัก จะต้องมีการวางแผนการนำเข้า-ส่งออก อย่างสม่ำเสมอ

          และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ 4. ผู้บริโภค ซึ่งทวีปแอฟริกามีประชากรหลากหลาย แต่ตลาดห้างสรรพสินค้าทั่วไปมีน้อย ส่งผลให้ต้องเรียนรู้ตลาด ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอเป็นเครื่องดื่ม  เน้นสุขภาพ สิ่งที่สำคัญคือเราจะต้องเข้าใจว่าสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการและมีสุขภาพที่ดีในตลาดคืออะไร จะเห็นว่าเมื่อเข้าไปทำตลาดแรก ๆ ทางบริษัท เน้นเครื่องดื่มที่ซึ่งส่งผลให้สีผิวขาวขึ้นและมีแคลเซียม แต่ตลาดนี้มิได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสีผิวและแคลเซียม แต่เครื่องดื่มที่ประกอบไปด้วยโปรตีน เพิ่มความแข็งแรง และรสชาติแปลกใหม่เป็นสิ่งที่สำคัญกว่าด้านอื่น ๆ ซึ่งแตกต่างจากตลาดเอเชีย อย่างไรก็ดี ในด้านราคาไม่ได้ส่งผลมากนัก เพราะปัจจุบันเครื่องดื่มไวตามิลค์แบบขวดที่จำหน่ายอยู่ราคาขวดละ 350 ไนรา (ประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งแพงกว่าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในท้องตลาดซึ่งจำหน่ายอยู่ที่ขวดละ 320-325 ไนรา เท่านั้น ซึ่งถึงแม้ว่าไวตามิลค์จะมีราคาแพงกว่าแต่หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่โดนใจผู้บริโภคในท้องถิ่น ก็เป็นสินค้าที่มีโอกาสเติบโตในตลาดได้

          ฉะนั้นการเข้าไปทำตลาดในทวีปแอฟริกา จะต้องเข้าไปถึงประเทศที่เราเห็นศักยภาพและหาคู่ค้าที่ดี      ในทวีปแอฟริกา เพื่อสนับสนุนการเติบโตของบริษัท และจะต้องมองตลาดสินค้าให้ออกทั้งในด้านผู้บริโภค ซึ่งประกอบด้วยหลากหลายเผ่าพันธุ์และพฤติกรรมการบริโภค และมีทั้งตลาดที่สามารถเข้าไปผลิตสินค้าเอง หรือผ่านตัวแทนการจำหน่าย โดยสินค้าต่างประเทศกว่าร้อยละ 90 ที่เข้าไปทำตลาดโดยเฉพาะในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกอย่างประเทศกาน่า และไนจีเรีย แบ่งเป็นตลาดย่อย ดังนี้

          1. ตลาดท้องถิ่น จำหน่ายสินค้าท้องถิ่นทุกประเภททั้งของสด ผัก ผลไม้ ของใช้จำเป็น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อาหาร เป็นตลาดขนาดใหญ่ของท้องถิ่นเหล่านั้น 

          2.ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นตลาดซึ่งคล้ายกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

          3. ร้านโชห่วย ร้านโชห่วยนี้ถือเป็นตลาดซึ่งมียอดขายมากที่สุด เป็นร้านขายปลีก-ขายส่งสินค้า ต่าง ๆ เพื่อไปยังกลุ่มผู้บริโภค (ถึงมือผู้บริโภคมากที่สุด)

          4. ร้านตั้งโต๊ะ ร้านค้าแนวนี้ถือเป็นร้านค้าซึ่งมีความแตกต่างน่าสนใจเป็นอย่างมาก ถือเป็นร้านที่ทุกคนสามารถทำการค้าขายได้เพียงแค่มีโต๊ะตั้งและมีสินค้ามาจำหน่าย เป็นร้านค้าแบบง่ายๆ แต่เข้าถึงผู้บริโภคเช่นเดียวกัน

          5. ตลาดเปิดท้าย เป็นตลาด ซึ่งคล้ายคลึงกับตลาดเปิดท้ายขายของทั่วไป เป็นตลาดซึ่งใครมีสินค้าก็นำมาจำหน่ายได้ทุกประเภท

          6. ร้านขายของตามถนนเมื่อรถติด เนื่องจากภายในเมืองมีรถจำนวนมากส่งผลให้เกิดการจราจรที่แออัด ติดขัด อย่างน้อยครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที ส่งผลให้เกิดตลาดรถติดจำนวนมากในหลาย ๆ พื้นที่บนท้องถนน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคอย่างมาก

          สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การสร้างแบรนด์ในทวีปแอฟริกา อันจะทำให้ผู้บริโภครับรู้ว่าสินค้าของเราคืออะไร ซึ่งหลักสำคัญในการการสร้างแบรนด์ของไวตามิลค์ คือ

  1. สินค้ามีคุณภาพ โดยหากสินค้ามีคุณภาพแล้ว ผู้บริโภคในตลาดแอฟริกาก็พร้อมจ่ายอย่างแน่นอน

  2. สินค้ามีคุณค่า โดยเป็นสินค้าที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภค เช่น ทานแล้วดีต่อสุขภาพ ร่างกายแข็งแรง

  3. ราคาเป็นที่ยอมรับได้ แม้ว่าราคาสูงหรือต่ำไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ แต่เมื่อเทียบกับคุณภาพแล้วจะต้องเป็นราคาที่เหมาะสมซึ่งผู้บริโภคพร้อมยอมรับจะสินค้าได้

  4. สินค้าอัพเดทเสมอ โดยมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น รสชาติใหม่ ๆ ให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นไม่จำเจ

  5. ภาพลักษณ์ของสินค้าและของที่ระลึกที่มีคุณภาพ โดยมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ และมีของที่ระลึกซึ่งมีคุณภาพเป็นของสมนาคุณ ซึ่งของสมนาคุณสามารถสะท้อนถึงตัวสินค้าได้

  6. ผลตอบแทนกับพ่อค้าคนกลาง เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะพ่อค้าคนกลางไม่ได้นำเสนอแต่สินค้าของเราเท่านั้น สินค้าที่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจก็จะเป็นสินค้าที่ได้รับการสนับสนุน

  7.  การนำคู่ค้ามาท่องเที่ยวพักผ่อน การเอาใจใส่ต่อลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญเพราะไม่ใช่แค่การค้าขายเท่านั้น หากแต่สามารถสร้างมิตรภาพกับคู่ค่าเหล่านั้นในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมได้

  8. การสื่อสาร การโฆษณาสื่อสารกับผู้บริโภคต้องไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา และมีอารมณ์ขัน

  9. การสร้าง CSR โดยสร้างแบรนด์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภค

          เห็นได้ชัดว่าโอกาสในการทำการค้า-การลงทุนในตลาดทวีปแอฟริกานั้นไม่ได้ยากเกินไปสำหรับผู้ประกอบการไทย แต่ผู้ประกอบการไทยจะต้องศึกษาตลาดอย่างลึกซึ้งและแสวงหาโอกาสอยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้มีความพร้อมก่อนที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดทวีปแอฟริกาซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายในทุกด้านที่ผู้ประกอบการไทยไม่คุ้นเคย ทั้งนี้หากผู้ประกอบการไทยสามารถเปิดตลาดการค้าใหม่ ๆในต่างประเทศ  ได้แล้ว โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาย่อมถือเป็นโอกาสสำคัญ เพื่อการขยายตัวทางธุรกิจให้เติบโตต่อไป ในอนาคต

ที่มาข่าวจาก : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, http://globthailand.com/africa_0001/
ภาพประกอบ : https://timedotcom.files.wordpress.com/2017/05/soymilk1.jpg?quality=85


 

sendLINE

Comment