รู้ก่อนรุก 7 ธุรกิจรับสิทธิพิเศษ เมื่อลงทุนใน สปป.ลาว

1.9K



รู้ก่อนรุก 7 ธุรกิจรับสิทธิพิเศษ เมื่อลงทุนใน สปป.ลาว

เบื้องต้นกับธุรกิจใน “สปป.ลาว” และ 7 ธุรกิจรับสิทธิพิเศษ

    การลงทุนประกอบกิจการที่สาธารณรัฐประชาชนลาวในวันนี้ นับว่าเปิดกว้างแก่นักลงทุนและมีความท้าทายอยู่ไม่น้อย “การเปิดรับธุรกิจใหม่” ของสปป.ลาวเป็นข้อได้เปรียบเชิงเศรษฐศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่ทำให้นักลงทุนชาวไทยและต่างชาติมองเห็นศักยภาพของประเทศที่มีเสน่ห์แห่งนี้ กอปรกับการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัวทำให้ สปป.ลาวเป็นโอกาสที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม

    ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สปป. ลาว ประสบความสำเร็จในการเติบโตทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แต่การพัฒนาในระยะยาวยังต้องการความหลากหลายทางธุรกิจและต้องการการลงทุนของผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะด้านการเกษตร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมสิ่งทอ และงานหัตถกรรม ซึ่ง สปป.ลาว จะให้ความสำคัญและมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษตามนโยบายการพัฒนาประเทศ

    คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  (Committee for Promotion and Management of Investment: CPMI) ของ สปป. ลาว ได้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนใน 7 สาขาธุรกิจ โดยยกเว้นภาษีที่เรียกเก็บจากกำไรเป็นระยะเวลา 2 ปี หลังจากนั้นจะเสียภาษีที่เรียกเก็บจากกำไรในอัตราร้อยละ 10 ในระยะเวลา 2 ปี และหลังจากนั้นจะเสียภาษีภาษีที่เรียกเก็บจากกำไรเต็มอัตราร้อยละ 20 ดังนี้

  1. กิจการการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก
  2. กิจการกสิกรรม-ป่าไม้ แปรรูปผลิตภัณฑ์กสิกรรมป่าไม้และหัตถกรรม
  3. กิจการอุตสาหกรรมแปรรูป อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยกิจการค้นคว้าวิจัยวิทยาศาสตร์และการพัฒนา กิจการรักษาสิ่งแวดล้อมและชีวะนานาพันธุ์
  4. กิจการเกี่ยวกับการพัฒนาทางด้านทรัพยากรมนุษย์ ฝีมือแรงงาน และการรักษาสุขภาพของพลเมือง
  5. กิจการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) แต่ไม่ใช่การก่อสร้างภายใต้สัญญา
  6. กิจการผลิตวัตถุดิบ อุปกรณ์เพื่อสนองต่อการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญ
  7. กิจการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการ

     สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพิ่มเติมหากดำเนินกิจการในพื้นที่ห่างไกลหรือมีสาธารณูปโภคพื้นฐานบางส่วนจะเป็นลักษณะ 1) การยกเว้นภาษีนำเข้ายานพาหนะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตรวมทั้งวัตถุดิบ 2) การยกเว้นภาษีส่งออกสำหรับสินค้าส่งออก หรือสินค้าส่งออกต่อ (Re-export) 3) การลดอัตราภาษีกำไร

     ใน สปป. ลาวแทบไม่ต่างกับประเทศอื่นในกลุ่มประชาคมอาเซียน จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องศึกษาและเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม ผู้ประกอบการต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของกิจการในลาวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เกือบทุกรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจ โดยไม่จำกัดสัดส่วนการถือหุ้นในเกือบทุกสาขาการลงทุน แต่ยังยกเว้นในวิสาหกิจมหภาคเอกชนหรือภาครัฐของ สปป. ลาว มีส่วนร่วมในกิจการด้านการท่องเที่ยว การทําเหมืองแร่ และการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังสงวนอาชีพธุรกิจบางประเภทไว้สำหรับสัญชาติลาวเท่านั้น ตามท้ายประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่ง สปป.ลาว ใน 6 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้

  • พลังงานและบ่อแร่ ได้แก่ การขุดแร่ธาตุแบบหัตถกรรม และการขุดค้นแร่หินอุตสาหกรรม เป็นต้น
     
  • อุตสาหกรรมและการค้า โดยเฉพาะ การทอผ้า
     
  • โยธาธิการและการขนส่ง ครอบคลุมอาชีพคนขับรถขนส่งสินค้า หรือขับรถโดยสาร อาชีพนายช่างและกรรมกรก่อสร้าง อาชีพการออกแบบสถาปัตยกรรมลาว ธุรกิจโกดังสินค้า การขนส่งโดยสารระหว่างประเทศ สถานีขนส่งโดยสารระหว่างประเทศ เป็นต้น
     
  • ธุรกิจด้านงานแถลงข่าว วัฒนธรรมและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงธุรกิจวิทยุโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ ธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ และงานบริการบางประเภทเช่น ช่างตัดผม พนักงานนำเที่ยว
     
  • ธุรกิจด้านการเงินการธนาคาร ได้แก่การจัดตั้งสถาบันการเงินขนาดเล็กทั้งที่ให้บริการรับฝากเงินและที่ไม่รับฝากเงิน การตั้งสหกรณ์สินเชื่อและเงินฝากประหยัด เป็นต้น
     
  • กิจการด้านสาธารณสุข ซึ่งรวมถึงการขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นยา การขึ้นทะเบียนวิชาชีพดำเนินธุรกิจการแพทย์-ยาพื้นเมือง การขึ้นทะเบียนวิชาชีพดำเนินธุรกิจโรงงานผลิตยา บริษัทการยา อุปกรณ์การแพทย์ สาขาจำหน่าย และร้านขายยาย่อยเป็นต้น
     

   “สาธารณรัฐประชาชนลาว” ยังมีมิติอีกหลายด้านที่ถือว่าน่าสนใจ และกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ได้รับการผ่อนปรนตาม MOU หรือ นโยบายของรัฐบาลลาว ที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งจะได้กล่าวในบทความเพื่อการลงทุนในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียนและ สปป.ลาว ต่อไป

โดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ที่มาข่าวจาก : http://globthailand.com
ภาพประกอบ : https://www.thugstart.com/wp-content/uploads/2016/04/investor-check-main.jpg


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
Tel.: 02-192-1685-6
M. 086-310-2493 (K.แอม), 086-303-5847 (K.ตั้ม)
e-Mail : aseanfair2017@gmail.com

ลงทะเบียนเข้างาน Pre-VISITOR Online ได้แล้ววันนี้ พร้อมลุ้นจับรางวัลของรางวัลพิเศษภายในงานทุกวัน :

Pre Register ASEAN Fair 2017

sendLINE

Comment