หุ่นยนต์จีนก้าวสู่เบอร์1โลก?

2.0K



ภายใต้นโยบายรัฐบาลจีนปัจจุบันที่กำลังผลักดันให้ ประเทศจีนเป็นตลาดหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก (ทั้งผลิตและการขาย) โดยเน้นการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม และจะปฎิวัติหุ่นยนต์จีนใหม่หมด นอกจากนี้ยังต้องการให้หุ่นยนต์เข้ามาเปลี่ยน “โฉมหน้าอุตสาหกรรมจีนตามนโยบายปฏิรูปภาคการผลิต (Supply-Side Reform)” อีกด้วย

 

มีการกำหนดเป้าหมายการผลิตหุ่นยนต์ เมื่อจบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 ว่าในปี 2563 จีนต้องผลิตหุ่นยนต์ให้ได้จำนวน 1 แสนตัว เมื่อพูดถึงหุ่นยนต์นั้น ประกอบด้วย 3 ประเภทคือ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม หุ่นยนต์เพื่อบริการ และหุ่นยนต์เพื่อทหาร

 

ตามรายงานของ “World Robotics” พบว่าปี 2558 มีการผลิตหุ่นยนต์ทั่วโลกจำนวน 253,748 ตัว มูลค่าอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2560 คาดว่าตลาดโลกผลิตกันที่ 3 แสนตัว และปี 2562 คาดว่าจำนวนหุ่นยนต์ที่ขายกันขึ้นไปที่ 4แสนตัว ในจำนวนดังกล่าวประเทศจีนมีอัตราการขยายตัวความต้องการสูงที่สุดในโลกถึงร้อยละ 36% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาความต้องการหุ่นยนต์ทุกประเภทของโลกโตร้อยละ 16 แต่ช่วงปี 2553 ถึง 2557 การขยายตัวความต้องการสูงถึง 100%

ตลาดที่ขยายตัวมากที่สุดคือเอเชีย ซึ่งมาจากความต้องการของประเทศจีนเป็นหลัก ตามด้วยความต้องการของยุโรปและทวีปอเมริกา

นอกจากนี้ในปี 2558 สัดส่วนความต้องการหุ่นยนต์ร้อยละ 75 อยู่ใน 5 ประเทศ คือ ตลาดจีน (68,600 ตัว คิดเป็น 28% ในโรงงานของจีน) เกาหลีใต้ (38,300 ตัว) ญี่ปุ่น (35,000 ตัว) สหรัฐฯ (27,504 ตัว) และเยอรมนี (20,105 ตัว) จากจำนวนยอดขายหุ่นยนต์ทั้งหมดนั้น ครึ่งหนึ่งเป็นความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ และ 30% ใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์

แม้ว่าจีนมีทั้งความต้องการและการผลิตที่สูงสุดในโลกก็ตาม แต่หากพิจารณาจากจำนวนหุ่นยนต์ต่อ 1หมื่นแรงงานคน พบว่าเกาหลีใต้มีสัดส่วนสูงที่สุด 478 ตัว ญี่ปุ่น 314 ตัว เยอรมนี 292 ตัว สหรัฐฯ 164 ตัว (ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 66 ตัวต่อ 10,000 แรงงานคน) ในขณะที่ประเทศจีนอยู่ที่ 33 ตัวต่อ 1หมื่นแรงงานคน ซี่งถือว่ายังต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม หากจีนจะก้าวขึ้นเบอร์ 1 ของการผลิตหุ่นยนต์ของโลกให้ได้นั้น จีนต้องเร่งผลิตและพัฒนาคุณภาพให้เท่าเทียมหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นและเยอรมัน เพราะปัจจุบันกำลังการผลิตหุ่นยนต์ของจีนผลิตได้เพียง 30% เพื่อตอบสนองโรงงานจีน ในขณะที่คุณภาพหุ่นยนต์โดยรวมยังมีคุณภาพต่ำอยู่ นอกจากนี้แบรนด์หุ่นยนต์จีนก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก รูปลักษณ์การออกแบบหุ่นยนต์ยังไม่โดดเด่น และยังขาดองค์ความรู้

เหตุผลดังกล่าวทำให้บริษัทจีนจึงอาศัยการเรียนลัดในการพัฒนาหุ่นยนต์ เช่น บริษัท “Midea” ของจีนเข้าไปถือหุ้นหุ่นยนต์ “Kuka” ของบริษัท “VoithGmbh” ของเยอรมันจำนวน 25% อย่างไรก็ตามก็ยังมีบริษัทที่เป็นหัวจักรในการพัฒนาหุ่นยนต์ของจีน เช่น บริษัท “Siasun” เป็นบริษัทผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ที่สุดของจีนที่ผลิตหุ่นยนต์สามารถผลิตตามมาตรฐานของโลก Siasunเป็นบริษัทลูกของ CAS (Chinese Academy of Sciences) ที่เป็นหน่วยงานของรัฐฯ ทำหน้าที่ผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีน

บริษัทนี้ผลิตหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม หุ่นยนต์โมบาย หุ่นยนต์ทำความสะอาด และหุ่นยนต์บริการ บริษัท “Harbin Boshi Automation” ผลิตหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมขุดเจาะและสำรวจน้ำมันและหุ่นยนต์ในภาคเกษตรกรรม และบริษัท “ShougangMotomam Robot” เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างจีนกับ Yaskawaของญี่ปุ่น โดยผลิตส่วนประกอบหุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมมอเตอร์ไซด์ เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ที่มาข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม พ.ศ. 2560
อ่านเนื้อหาทั้งหมด : http://www.thansettakij.com/2017/02/25/132001

ภาพประกอบ : http://media2.s-nbcnews.com/j/newscms/


@Line THAIPURCHASING
THAIPURCHASING.com !!! มี LINE Official แล้วรู้ยัง
สอบถามหาข้อมูลสินค้าหรือกิจกรรมต่างๆของเรา ได้ทุกวันผ่าน 

กดถูกใจ FanPage เพื่อติดตามกิจกรรมของเราได้ที่ :

กดถูกใจแฟนนเพจ คลิก PURCHASING Industrial Products
Facebook.com/thaipurchasing.tensho

sendLINE

Comment