ไม่ฝันหวาน! สรท.ตั้งเป้าส่งออกปีหน้า 5% เพราะปัจจัยเสี่ยงมาก ขัดกับก.พาณิชย์ที่ขอลุ้น 8%

1.2K



ไม่ฝันหวาน! สรท.ตั้งเป้าส่งออกปีหน้า 5% เพราะปัจจัยเสี่ยงมาก ขัดกับก.พาณิชย์ที่ขอลุ้น 8%

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยภายในการแถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกประจำเดือนพฤศจิกายน 2561 ว่า คาดการณ์แนวโน้มการส่งออกในปี 2562 จะขยายตัวลดลงเหลือเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดไว้ว่าจะสามารถขยายตัวได้ 8% เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลจำนวนมาก อาทิ ความยืดเยื้อของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน ถึงแม้จะมีการประกาศพักรบชั่วคราว 90 วัน แต่ก็เพื่อให้จีนปรับสัดส่วนในการนำสินค้าเข้าสหรัฐฯ ไม่ให้ขาดดุลมากนักเท่านั้น และการที่จีนให้คำมั่นที่จะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าบางรายการของไทยที่ส่งไปยังจีน

นอกจากนี้ยังมีความผันผวนของราคาน้ำมัน ที่ส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อประเทศผู้ผลิตในค้าน้ำมัน ซึ่งอาจมีผลต่อกำลังซื้อ นโยบายการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนาม ซึ่งเวียดนามถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย ทั้งการส่งออกและการลงทุน รวมถึงการที่ต้นทุนทางด้านระบบขนส่งโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังคงกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า โดยประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลดลง

นางสาวกัณญภัค กล่าวว่า เบื้องต้น สรท. ยังคงประมาณการส่งออกปีนี้ไว้ที่ 8% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ โดยมีปัจจัยบวกมาจากการส่งออกสินค้าผ่านการค้าออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ ที่เติบโตค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมการส่งออก 10 เดือนแรกยังคงขยายตัวได้ดี ยกเว้นเดือนกันยายนที่หดตัวลดลง แต่ในเดือนตุลาคม ก็กลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้ง อยู่ที่ 8.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ผ่านมา มีมูลค่า 21,758 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจากการขยายตัวของตลาดในประเทศคู่ค้า ส่งผลทำให้การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยยอดส่งออกสะสมในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ ขยายตัว 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 211,488 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นางสาวกัณญภัค กล่าวว่า กลุ่มสินค้าที่ส่งออกได้เพิ่มมากขึ้นคือ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร อาทิ น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป รวมทั้งผักและผลไม้สดและแช่แข็ง โดยเฉพาะทุเรียน ขณะที่ยางพารายังคงหดตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่หดตัวลงเช่นกัน สำหรับตลาดที่ยังขยายตัวได้ดีคือ ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวที่ 5% เหตุเพราะวิกฤติสงครามการค้า ทำให้ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐได้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับตลาดอาเซียนยังเติบโตได้ดีเกือบ 5%

“สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในปีนี้ ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก หากอยู่ในระดับ 60-70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จะทำให้กำลังซื้อของประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ต้องติดตามข่าวสารของการที่รัสเซียหารือกับซาอุดีอาระเบีย เพื่อร่วมมือกันรักษาระดับราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่เหมาะสม ว่าจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ เนื่องจากในด้านของผู้ประกอบการเอง สิ่งที่ต้องการมากที่สุดมักต้องการให้ราคาต้นทุนคงที่ ไม่ผันผวนมาก เพราะจะทำให้เจรจาธุรกิจการค้า ทำได้ดีขึ้น ไม่ต้องกังวัลว่าหากวันนี้ตกลงไปแล้ว พรุ่งนี้ราคาจะปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือไม่” นางสาวกัณญภัค กล่าว

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  www.prachachat.net

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

sendLINE

Comment