บิ๊กธุรกิจหนุน”ศก.หมุนเวียน” อุตตมเล็งชงครม.เดินหน้าแผนโรดแมป

1.4K



บิ๊กธุรกิจหนุน”ศก.หมุนเวียน” อุตตมเล็งชงครม.เดินหน้าแผนโรดแมป

           บิ๊กธุรกิจ “มิตรผล-เดลต้า-ฮอนด้า” หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน circular economy “อุตตม” เร่งเครื่องโรดแมปนำร่อง 4 อุตสาหกรรม อาหาร-ยานยนต์-ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์-ไบโอชีวภาพ เข้า ครม. ต.ค.นี้ พร้อมบูรณาการหลายกระทรวง บีโอไอคลอดมาตรการกระตุ้นทุกทาง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีแผนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแผนแม่บทเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy roadmap) ในเดือนตุลาคมนี้ โดยจะนำร่องใน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ อาหาร ยานยนต์ ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ ไบโอชีวภาพก่อน ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะให้ความสำคัญ 4 ด้าน คือ การผลิต การบริโภค การจัดการของเสียจากการผลิต และการใช้วัตถุดิบรอบ 2 (ตามกราฟิก) หากไทยสามารถทำได้สำเร็จจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแผน circular economy เพื่อให้ครอบคลุมทุกกระบวนตั้งแต่การออกแบบ การใช้วัตถุดิบ การนำกลับมาใช้ใหม่ครบวงจรจะต้องชัดเจน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ กระบวนการเป็นอย่างไร กลับมาใช้ใหม่ด้วยวิธีใด สามารถนำไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้หรือไม่ เป็นต้น และยังต้องบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงกระทรวงแรงงาน เป็นต้น เพื่อกำหนดมาตรการด้านภาษี และมาตรการส่งเสริมด้านต่าง ๆ โดยคาดว่าในปลายเดือนนี้จะเสนอให้ รมว.อุตตมรับทราบอีกครั้ง ก่อนเสนอเข้า ครม.

“ในยุโรป circular economy มีมูลค่าถึงแสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่ของไทยยังอยู่ระหว่างประเมินมูลค่า ส่วนที่สำคัญที่จะทำให้สำเร็จได้ คือ แนวความคิดวิธีบริหารจัดการของบริษัท/โรงงาน และการลงทุน”

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้องดูว่าขอบเขตของโรดแมป circular economy ครอบคลุมกิจการอะไรบ้าง และกิจการเหล่านั้นสามารถขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอได้อยู่แล้วหรือไม่ หากเป็นกิจการที่ยังไม่ได้รับการส่งเสริมก็จะพิจารณาให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมได้

“circular economy เป็นคำกว้าง เช่น การเอาสิ่งของที่เหลือมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งมีธุรกิจที่ขอบีโอไอได้อยู่แล้ว เช่น การเอาวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จะได้ยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี เพราะเป็นเทคโนโลยีง่าย ๆ แต่ก็ยังมีหลายประเภทกิจการที่เกี่ยวข้องกับ circular economy ประเภทกิจการเหล่านี้จะได้สิทธิประโยชน์สูง อย่างธุรกิจรีไซเคิล”

สำหรับมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรม circular economy ของบีโอไอปัจจุบัน กำหนดไว้ในหมวดประเภทกิจการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ มี 2 ส่วน คือ 1.ในกรณีคัดแยกที่มีกระบวนการแปรรูปเพิ่มเติม หรือนำกลับมาใช้ประโยชน์อีก (recycle) หรือนำกลับคืนมาใหม่ (recovery) ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี หรืออยู่ในกลุ่ม A2 บวกสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ รวมถึงยกเว้นอากรเครื่องจักร ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก เช่น ธุรกิจรีไซเคิล และ 2.กรณีคัดแยก (sorting) ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี หรืออยู่ในกลุ่ม A3 บวกสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ รวมถึงยกเว้นอากรเครื่องจักร ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งทั้ง 2 กรณีมีเงื่อนไขว่าต้องตั้งในนิคมอุตสาหกรรม หรือพื้นที่ที่ได้รับส่งเสริมเท่านั้น ยกเว้นคณะกรรมการพิจารณาผ่อนผันเป็นรายกรณีได้, ต้องดำเนินการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เกิดขึ้นในประเทศเท่านั้น, ต้องมีกระบวนการคัดแยกหรือแปรรูปวัสดุที่ไม่ใช้แล้วด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการ บริษัท เดลต้า อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA กล่าวว่า แนวทางการทำ circular economy ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้ภาคการผลิตคำนึงถึงการใช้ทรัพยากร วัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่งผลให้เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ไม่ก่อให้เกิดขยะ ปัจจุบันทางเดลต้ามีนโยบายด้านนี้ทั้งการปรับการผลิต โดยเลือกวัตถุดิบที่นำมาผลิตต้องไม่มีพิษ การบริหารจัดการขยะ การลดของเสียในอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้ถึง 5 ล้านบาท/เดือน เช่น การลดการใช้แก้วพลาสติก และยังมีโครงการพลังงานหมุนเวียนจากการใช้โซลาร์รูฟท็อป การนำน้ำเสียจากกระบวนการผลิตมากรองและหมุนเวียนใช้ภายในโรงงาน เป็นต้น

ด้านนายอารักษ์ พรประภา รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า circular economy นับเป็นโรดแมปที่ดีของรัฐบาล ซึ่งจะไปสนับสนุนทั้งระบบของภาคการผลิต ตั้งแต่การออกแบบ การนำไปใช้ การใช้เทคโนโลยีเพื่อไม่ให้เกิดมลพิษ การนำวัสดุเหลือใช้ไปใช้ใหม่

ในส่วนของฮอนด้า ซึ่งเป็น 1 ใน 4 อุตสาหกรรมนำร่อง ได้ดำเนินนโยบายนี้ โดยกำหนดแนวทางให้ดีลเลอร์นำแบตเตอรี่ไปทำลาย ส่วนน้ำมันเครื่อง พลาสติกจากชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถจะถูกแยก และส่งไปเข้าสู่กระบวนการทำลาย และรีไซเคิล ส่วนยางรถที่ใช้แล้วจะส่งให้กลุ่ม SCG นำไปเข้าสู่กระบวนการเผา และมีแนวทางที่จะพัฒนานวัตกรรมมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า รับทราบถึงกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันโรดแมป circular economy ต่างประเทศก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ซึ่งทางมิตรผลได้ดำเนินการด้านการนำขยะที่ผ่านการผลิตและนำกลับมาใช้ใหม่มานานกว่า 10 ปีแล้ว เช่น ซากอ้อย นำกลับมาใช้ใหม่เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลโมลาส (กากน้ำตาล) ก็นำมาผลิตเป็นเอทานอล เพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งขณะนี้ลดได้ปริมาณมากจนทำให้บริษัทมีคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้น มีหลายบริษัทเข้ามาซื้อคาร์บอนเครดิตกับกลุ่มมิตรผลด้วย อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องปรับใช้แพ็กเกจจิ้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ต้องใช้ระยะเวลา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในการดำเนินการมีต้นทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  ประชาชาติธุรกิจ ,www.prachachat.net

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

sendLINE

Comment