ชงแผน 2 แสนล. ครม.สัญจรชุมพร ดันถนนเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน-ท่าเรือสงขลา 2

2.6K



ชงแผน 2 แสนล. ครม.สัญจรชุมพร ดันถนนเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน-ท่าเรือสงขลา 2

การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดชุมพรที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2561 ภาครัฐและเอกชน 11 จังหวัด ประกอบด้วยกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 5 จังหวัด คือ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษร์ธานี และสงขลา และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด คือ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล ได้นำเสนอโครงการ 5 ด้าน ในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมัน และเมืองเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับภูมิภาคอื่นของโลก

เสนอ 7 โครงข่ายเชื่อมภูมิภาค

การพัฒนาศักยภาพโครงข่ายคมนาคมขอรับการสนับสนุนเพิ่มประสิทธิภาพกลุ่มภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 7 โครงการ ได้แก่ 1.พัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อในแนวตะวันตก-ตะวันออก แนวเหนือ-ใต้ ประกอบด้วย (1) การก่อสร้างทางหลวงชนบทสุราษฎร์ธานี หมายเลข สฎ 3012-บรรจบทางหลวงหมายเลข 44 (เชื่อมทางหลวงหมายเลข 44 และหมายเลข 401 และท่าเรือท่าทอง) (2) เร่งรัดขยายทางสายประธานเป็น 4 เลน (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 415 ตอนบางคราม-พนม ระยะทาง 26.780 กม. (3) ขยายทางหลวงหมายเลข 4009 ตอนนาสาร-เวียงสระ-บางสวรรค์-อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ระยะทาง 68.483 กม. และ (4) ศึกษาออกแบบระบบโลจิสติกส์สถานีรถไฟ จ.ชุมพรเพื่อเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึก จ.ระนอง สนับสนุนเชื่อมโยงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

2.ก่อสร้างและพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งอ่าวไทย ระยะทางกว่า 760 กม. 3.ปรับปรุงถนนแอสฟัลติกคอนกรีต บ้านหนองเรือ-พันวาล 4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถนน/ราง/เรือ เพื่อสร้างทุ่งสงให้เป็น multimodal hub และพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า เพื่อให้ทุ่งสงเป็น hub โลจิสติกส์ 5.ปรับปรุงสถานีขนส่งผู้โดยสาร เทศบาลนครหาดใหญ่แห่งที่ 1

6.ขอให้ศึกษาการก่อสร้างเส้นทางมอเตอร์เวย์ ตั้งแต่ชุมพรถึงสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส 7.พัฒนาด่านชายแดนสะเดา โดยมีการเสนอก่อสร้างถนนเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษกับด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่ 2 ก่อสร้างถนนคอนกรีตกว้าง 40 เมตร ระยะทาง 1.7 กม.

ตัดถนนเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน

ด้านกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามันเสนอเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวและเกษตรฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน 10 เส้นทาง เช่น ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) เชื่อมภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง (ทางเลี่ยงเมืองกระบี่) เริ่มจากบ้านหนองขอน ใกล้ทางแยกบ้านในสระ จุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 4 และหมายเลข 4033 สิ้นสุดที่บ้านนาเหนือ บรรจบทางหลวงหมายเลข 4 บริเวณ กม.987+200 ระยะทาง 29 กม., พัฒนาพื้นที่เกาะลันตาใหญ่ (ปรับปรุงถนนสายบ้านศาลาด่าน-คลองนินเจ๊ะหลี) ระยะทาง 12 กม.

มีการเสนอพัฒนาถนน จ.ตรัง 2 เส้นทาง คือ ถนนวงแหวนรอบเมืองตรัง (แยกนาขา-แยกควนปริง) และปรับปรุงถนนและพนังกั้นแม่น้ำตรัง 2 เส้นบริเวณ ต.หนองตรุด อ.เมือง จ.ตรัง รวมถึงยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพถนน 4 เส้น จ.พังงา คือ ทางหลวงหมายเลข 4 ตอนควบคุม 0901 ตอนอ่าวเคย-บางนายสี ระยะทาง 71.250 กม., ทางหลวงหมายเลข 401 ตอนแยกโคกเคียน-เขาศก-พนม ระยะทาง 15.938 กม., ทางหลวงหมายเลข 4197 ตอนเขาต่อ-ปลายพระยา ระยะทาง

15.938 กม. และทางหลวงหมายเลข 4367 ตอน อ.ปลายพระยา-อ.ทับปุด ระยะทาง 29.194 กม.

นอกจากนี้มีการเสนอก่อสร้างถนนแนวใหม่สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว จ.ภูเก็ต ทางหลวงหมายเลข 4026 กม.0+000 สิ้นสุด กม.22.400 ระยะทาง 22.40 กม.

มีโครงการขยายช่องจราจร 4 ช่อง คือทางหลวงหมายเลข 4006 จากระนอง-ราชกรูด ระยะทาง 68 กิโลเมตร, ขยายถนนสายทุ่งหว้า-ตรัง ให้มีขนาด 4 ช่อง เชื่อมโยงทางหลวงหมายเลข 404 อำเภอย่านตาขาว-อำเภอปะเหลียน ทางหลวงหมายเลข 416 ตอนปะเหลียน-อำเภอทุ่งหว้า-อำเภอละงู ระยะทางรวม 71 กิโลเมตร ออกแบบถนนสะพานสตูล-เปอร์ลิส และสร้างถนน 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4156 เขาพนม-ทุ่งใหญ่

ปัดฝุ่นท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2

ในกลุ่มภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยสนับสนุนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, เร่งรัดก่อสร้างทางรถไฟ 3 สายใหม่ คือ สุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น (พังงา), ดอนสัก-สุราษฎร์ธานี และชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง ขณะเดียวกันกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของระบบรางจากสถานีกันตัง-ท่าเรือนาเกลือ จ.ตรัง

ส่วนการพัฒนาโครงข่ายทางน้ำสนับสนุนท่าเรือสำราญ, เร่งรัดก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2, ศึกษาและออกแบบท่าเรืออเนกประสงค์เชื่อมแลนด์บริดจ์ท่าเรือชุมพร-ระนอง, เร่งรัดปรับปรุงท่าเทียบเรือท่าเลน กระบี่, ปรับปรุงท่าเทียบเรือ 5 แห่งในภูเก็ต (อ่าวปอ-บางโรง-รัษฎา-อ่าวมะขาม-อ่าวฉลอง), ปรับปรุงท่าเทียบเรือ 10 แห่งในกระบี่ (เกาะปอ-เกาะลันตาใหญ่-เกาะจำ-ศรีบอยา-เกาะปู-บ้านแหลมกรวด-คลองจิหลาด-บ้านไหนหนัง-บ้านบากันดี-บ้านบ่อท่อ-ซอยท่าเรือ รวมถึงการเสนอศึกษาออกแบบปรับปรุงท่าเทียบแพขนานยนต์ข้ามฟากเกาะลันตา

ด้านโครงข่ายทางอากาศ เร่งรัดการพัฒนาปรับปรุงสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ จ.สงขลา

ตั้ง Oil Palm City-โอเลโอเคมี

ยางพาราและปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ มีการเสนอจัดตั้ง oil palm city ใน จ.สุราษฎร์ธานี, การยกระดับคุณภาพปาล์มน้ำมัน, ส่งเสริมการทำสวนปาล์มแบบผสมผสาน, สนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล และพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมี รวมถึงพัฒนาตลาดดิจิทัลให้มีช่องทางกระจายสินค้า, พัฒนาแบบเมืองนวัตกรรมการเกษตร และความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐาน bioeconomy

การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เช่น ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (medical hub) สร้างโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิใน จ.สุราษฎร์ธานี, เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพด้านการบริการของโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช

ด้านสิ่งแวดล้อม เสนอให้มีการขุดลอกร่องน้ำชายฝั่งทะเล เช่น ร่องน้ำบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี และขอให้ศึกษาแนวทางป้องกันปัญหาอุทกภัยแบบครบวงจรในภาคใต้ รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำและการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร เป็นต้น

ชูสปาน้ำพุร้อน-เมืองกีฬา เสริมแกร่งท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ นับเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ การประชุม ครม.สัญจรที่ จ.ชุมพรมีข้อเสนอให้พัฒนาการรักษาความปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น 1.พัฒนานวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยว 2.จัดตั้งศูนย์ควบคุมและสั่งการด้านความปลอดภัยทางน้ำภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 3.พัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวและความปลอดภัยทางทะเล 4.พัฒนาทะเลสาบเชี่ยวหลาน เขื่อนรัชชประภา อุทยานแห่งชาติเขาสกอย่างครบวงจร

รวมถึงยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวในทุกด้าน เช่น บุคลากรผู้ให้บริการ สถานที่ท่องเที่ยว การขนส่ง เป็นต้น และพัฒนาเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว (โครงการพัฒนาทางหลวงชนบทริมทะเลสาบสงขลา จ.พัทลุง) อีกทั้งปรับปรุงผิวจราจรและก่อสร้างจุดพักรถ จุดชมวิว 5 สายทาง เช่น สาย พท.4007 แยกทางหลวงหมายเลข 4037 บ้านทะเลน้อย อ.ควน จ.พัทลุง ระยะทาง 21.084 กม. และสาย พท.4007 แยกทางหลวงหมายเลข 4050 บ้านลำปำ จ.พัทลุง ระยะทาง 4.862 กม. เป็นต้น

ขณะที่ฝั่งอันดามันมี 3 โครงการ ได้แก่ 1.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยขอรับสนับสนุนยกระดับพัฒนาแหล่งสปาวารีบำบัดน้ำพุร้อน (คลองท่อมเมืองสปา) พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสุขภาพ 2.ป้องกันรักษาความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นการท่องเที่ยว เช่น จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จ.พังงา ได้แก่ ท่าเทียบเรือคลองเหีย อ.เกาะยาว ศูนย์การแพทย์เขาหลัก อ.ตะกั่วป่า รพ.ส่งเสริมสุภาพ ต.เกาะยาวใหญ่ รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์ อ.เกาะยาวน้อย ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง อ.เมืองภูเก็ต และพื้นที่ที่จังหวัดกำหนด นอกจากนี้มีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว โดยติดตั้งกล้อง CCTV ใน 4 อำเภอ คือ เกาะยาว ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และเมือง

และ 3.พัฒนาด้านกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว เช่น ก่อสร้างศูนย์พัฒนากีฬาและวิทยาศาสตร์การกีฬาระดับประเทศครบวงจร พร้อมอุปกรณ์และเทคโนโลยีล้ำสมัย จ.ระนอง อีกทั้งเพื่อเชื่อมโยงศูนย์ฟื้นฟูสภาพด้วยการแพทย์ทางเลือก รพ.ระนอง ซึ่งมีเป้าหมายเป็นศูนย์กีฬาครบวงจรแห่งแรกของไทย ขณะเดียวกันมีโครงการจัดสร้าง sport complex จ.ภูเก็ต เป็นต้น

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.prachachat.net

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

sendLINE

Comment