เตรียมรับมือข้าวโพดปี”62 ทะลัก 6 ล้านตัน-คงสัดส่วนนำเข้า 3:1

2.2K



 

เตรียมรับมือข้าวโพดปี”62 ทะลัก 6 ล้านตัน-คงสัดส่วนนำเข้า 3:1

พาณิชย์ชง นบขพ.รับมือ “ข้าวโพดปี”61/62” ทะลักกว่า 5 ล้านตัน เหตุชาวไร่แห่ปลูก เตรียมเดินหน้ามาตรการบีบโรงงานอาหารสัตว์ช่วยซื้อ กก.ละ 8.00 บาท ด้าน ส.การค้าและผลิตพืชไร่เพชรบูรณ์ วอนรัฐช่วยปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,500 บาท

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประชุมร่วมกับตัวแทนจากสมาคมผู้ค้าพืชไร่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เพื่อเตรียมกำหนดมาตรการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฤดูการผลิตปี 2561/62 ซึ่งคาดว่าจะทยอยออกตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป

โดยการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมประเมินว่าปีนี้ผลผลิตข้าวโพดสูงกว่าปีก่อนที่มีประมาณ 4.5 ล้านตัน เนื่องจากราคาขายข้าวโพดปีก่อนพุ่งขึ้นไปสูงถึง กก.ละ 10.00-10.50 บาท สูงกว่าระดับราคารับซื้อที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์รับซื้อจากเกษตรกรในราคา กก.ละ 8.00 บาท ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกมากขึ้น ดังนั้น ทางกรมจึงได้เชิญทุกฝ่ายมาหารือเพื่อเตรียมกำหนดมาตรการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2561/62 เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ซึ่งมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้

“คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตจะมีเพิ่มขึ้น ทางกรมจะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อกำหนดแนวทางสร้างความสมดุลให้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยจะมีการนำเสนอหลายแนวทาง เช่น การขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ช่วยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาไม่ต่ำกว่าปีก่อน กก.ละ 8.00 บาท ส่วนการกำหนดอัตรารับซื้อข้าวโพด 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (มาตรการ 3 ต่อ 1) และผ่อนผันให้ใช้ 2 ต่อ 1 ในบางช่วงเวลานั้นขึ้นอยู่กับ นบขพ.จะพิจารณาใช้หรือไม่”

อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการนี้มีเงื่อนไขว่าเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิถูกต้อง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการนำไปผลิตอาหารสัตว์และเลี้ยงปศุสัตว์สำหรับการส่งออกพร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทางในการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรฐานการหักลดความชื้นข้าวโพด ซึ่งปัจจุบันมีมาตรการการรับซื้ออยู่ที่ 14.5% แต่หากเกษตรกรนำข้าวโพดที่มีระดับความชื้นสูงกว่านั้นมาจำหน่าย จะต้องถูกหักค่าความชื้น ซึ่งปัจจุบันไม่มีมาตรฐานที่เป็นค่ากลาง มีเพียงการใช้มาตรฐานเดิมที่เคยใช้ในอดีตปี 2540 และปี 2557 จึงควรปรับปรุงให้เป็นเกณฑ์กลาง พร้อมทั้งให้สำนักงานชั่งตวงวัด กำหนดแนวทางในการตรวจรับรองเครื่องวัดความชื้นที่ได้มาตรฐานด้วย

แจงต้องนำเข้าข้าวสาลี

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวโพดในปีนี้จะมีปริมาณ 5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 4.5 ล้านตัน เนื่องจากราคาดีทำให้เกษตรกรหันไปปลูกมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตนี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ที่คาดว่าจะมีปริมาณ 8.25 ล้านตัน จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบ หากรัฐบาลยังคงให้ใช้มาตรการ 3 ต่อ 1 กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์เข้าไปรับซื้อข้าวโพด 3 ส่วนเพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เช่นเดียวกับปีก่อน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ แต่ถึงอย่างไรวัตถุดิบก็ยังไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลยอมให้ผ่อนปรนใช้มาตรการ 2 ต่อ 1 เช่นปีนี้ก็เป็นแนวทางที่ดี เพียงแต่รัฐบาลควรประกาศนโยบายให้ชัดเจนเร็วขึ้น จากเดิมประกาศ 15 มิถุนายน-15 สิงหาคม 2561 กำหนดระยะให้นำเข้า 45 วัน และยังมีเงื่อนไขให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องซื้อผลผลิตในช่วงนั้น ๆ ไม่สามารถใช้สต๊อกเดิมที่มีอยู่ไปใช้สิทธิ์ได้ ทำให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดไม่ทัน และไม่สามารถวางแผนการนำเข้าได้ทันเวลา ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ และต้นทุนการเพาะเลี้ยงปศุสัตว์ ทำให้ฟาร์มปศุสัตว์ประสบปัญหา

“โรงงานอาหารสัตว์ยินดีที่จะเข้าไปช่วยรับซื้อข้าวโพดระดับความชื้น 14.5% ราคา กก.ละ 8.00 บาท ตามที่ภาครัฐกำหนดมาตลอด แต่เกษตรกรจะต้องมีเอกสารสิทธิที่ดิน เพื่อยืนยันว่าไทยไม่ได้รุกป่าหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อการผลิตปศุสัตว์เพื่อการส่งออกส่งออกไม่ได้”

ชาวไร่ขอเสริมปัจจัยการผลิต

แหล่งข่าวจากสมาคมการค้าและผลิตพืชไร่เพชรบูรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางสมาคมได้เข้าร่วมการประชุมด้วย แต่ประเมินสถานการณ์ว่าปีนี้ผลผลิตจะมีมากกว่าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดไว้ โดยอาจจะมีปริมาณถึง 6 ล้านตัน เนื่องจากสถานการณ์การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดของทุกบริษัทเพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน ซึ่งอาจจะมีผลทำให้ราคาตลาดปีนี้ลดลงจากปีก่อนที่เคยได้ถึง กก.ละ 10.00-10.50 บาท ทางสมาคมจึงเสนอให้รัฐช่วยสนับสนุนปัจจัยการผลิตข้าวโพดเช่นเดียวกับข้าว ที่รัฐบาลส่งเสริมรายละ 12 ไร่ ไร่ละ 1,500 บาท เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ไม่ขาดทุนจากต้นทุนการผลิตไร่ละ 4,500-4,800 บาท (ผลผลิต 760 กก.ละต่อไร่)

ส่วนเรื่องการกำหนดค่าความชื้นนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีผลต่อการรับซื้อ หรือราคารับซื้อ เพราะปัจจุบันทุกฝ่ายรับซื้อตามอัตราการหักลดค่าความชื้นที่ภาครัฐบาลกำหนดอยู่แล้ว

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.prachachat.net

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

sendLINE

Comment