“กาแฟ” พืชเศรษฐกิจใหม่ “เมียนมา” ตั้งเป้ารุกตลาดส่งออกทั่วโลก

1.7K



 

“กาแฟ” พืชเศรษฐกิจใหม่ “เมียนมา” ตั้งเป้ารุกตลาดส่งออกทั่วโลก

          แม้ว่าเมียนมาไม่ได้ติดท็อป 10 ของประเทศผู้เพาะปลูกและส่งออก “เมล็ดกาแฟ” แต่รางวัลจาก “สมาคมกาแฟแห่งเอเชีย” ที่เพิ่งการันตีว่า กาแฟของเมียนมา “รสชาติดีและมีคุณภาพ” เป็นอันดับที่สองรองจากอินโดนีเซีย ล่าสุดรัฐบาลเมียนมาปลุกปั้นให้เมล็ดกาแฟเป็น 1 ใน 5 ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของประเทศ โดยตั้งเป้าจะขยายตลาดส่งออกในทุกทวีปทั่วโลก

          กาแฟจากเมียนมากำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในตลาดโลก นับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งกลุ่ม “กาแฟมัณฑะเลย์” เมื่อ 3 ปีก่อน รอยเตอร์สรายงานว่า “สาย วัน เมียง” เจ้าของบริษัท กรีนแลนด์ ผู้เพาะปลูกกาแฟในเมืองพินอูลวิน จากมัณฑะเลย์ กล่าวว่า ในอดีตผู้ผลิตกาแฟเมียนมายังไม่มีสายสัมพันธ์กับตลาดต่างประเทศและขาดประสบการณ์ หากเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เป็นผู้ส่งออกหลัก แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตกาแฟเริ่มเรียนรู้และพัฒนามากขึ้น จนสามารถส่งออกกาแฟได้หลายประเทศ

         และเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เมียนมาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ “สมาคมกาแฟแห่งเอเชีย” (The Asian Coffee Association) ที่เมืองยูนนาน ประเทศจีน โดยเมียนมาเป็นหนึ่งในสมาชิกทั้งหมด 48 ประเทศจากเอเชีย ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2015 และมีผู้ร่วมก่อตั้ง 20 ประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อกำหนดมาตรฐานสำหรับกาแฟ สร้างกลไกการกำหนดราคา สนับสนุนแบรนด์กาแฟของเอเชีย และแลกเปลี่ยนข้อมูลและทรัพยากรระหว่างอุตสาหกรรมกาแฟในภูมิภาคเอเชีย

         เมียนมา ไทมส์ รายงานว่า ในการประชุมได้มีการจัดประกวด “รสชาติกาแฟยอดเยี่ยม” โดยมีผู้ตัดสินจาก 30 ประเทศในเอเชีย ที่ได้ลิ้มรสกาแฟที่ผลิตในแต่ละประเทศ ปรากฏว่ากาแฟเมียนมา

         ได้อันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ของการประกวดกาแฟที่มีรสชาติดีที่สุด โดยอินโดนีเซียได้ 87 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 ส่วนเมียนมาได้คะแนนห่างเพียงเล็กน้อยที่ 86.29 ส่วนจีนอยู่ที่อันดับ 3 ด้วยคะแนน 84.24

        “สัญญาณบวกของกาแฟเมียนมาต่อตลาดโลก ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีอีกทางของการสร้างรายได้ให้กับประเทศ แม้กาแฟยังไม่ใช่ผลผลิตหลักของเมียนมาแต่ควรได้รับการส่งเสริมให้เป็นสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอื่น” นาย เย มินต์ ประธานสมาคมกาแฟเมียนมา ในมัณฑะเลย์ระบุ

         ปัจจุบันราคากาแฟเมียนมาที่จำหน่ายในประเทศอยู่ที่ตันละ 3,102 ดอลลาร์สหรัฐ โดยราคาเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ในช่วงเวลา 2 ปี ส่วนราคาจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ สูงถึงตันละ 4,963-7,133 ดอลลาร์สหรัฐ ตามคุณภาพกาแฟ ซึ่งปัจจุบันสามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น โดยตลาดผู้ส่งออกกาแฟอันดับหนึ่งของเมียนมา คือ “สหรัฐ” โดยปี 2017 เมียนมาสามารถส่งออกกาแฟได้ 700 ตัน จากปี 2016 ส่งออกได้ราว 500 ตัน โดยเกือบ 40% ถูกส่งไปยังตลาดสหรัฐ ส่วนตลาดต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ ไอซ์แลนด์ ออสเตรเลีย ดูไบ ฮ่องกง รัสเซีย และเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งญี่ปุ่น ฮ่องกง มาเลเซีย และไทย

         “อู วิน ออง จ่อ” รองประธานสมาคมกาแฟเมียนมา ระบุว่า ล่าสุดรัฐบาลเมียนมาให้การส่งเสริมการเพาะปลูกและส่งออกกาแฟมากขึ้น โดยบรรจุให้ “เมล็ดกาแฟ” เป็น 1 ใน 5 ผลผลิตทางการเกษตรที่ส่งออกหลักและสร้างรายได้ให้กับประเทศ พร้อมตั้งเป้าว่าจะขยายตลาดส่งออกกาแฟในทุกทวีปทั่วโลก รวมถึงพัฒนาเมล็ดกาแฟให้มีคุณภาพที่หลากหลาย เหมาะสมกับแต่ละประเทศที่ต้องการจะส่งออก โดยในปลายเดือนมกราคม-มีนาคมนี้จะเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟ และคัดแยกคุณภาพอีกครั้ง

          ขณะที่สมาคมกาแฟเมียนมาจะเตรียมหารือเกี่ยวกับการแปรรูปเมล็ดกาแฟที่ไม่สมบูรณ์ และทดลองการเพาะปลูกในรอบต่อไป เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์มากที่สุด

          “นอกจากตลาดสหรัฐที่เป็นตลาดส่งออกใหญ่ของกาแฟเมียนมา ล่าสุดผู้ซื้อชาวจีนเริ่มให้ความสนใจกับกาแฟเมียนมามากขึ้น หลังจากที่ได้รับรางวัลกาแฟรสชาติดีเป็นอันดับสอง และจากที่กาแฟเมียนมามีราคาต่ำกว่ากาแฟของอินโดนีเซีย จึงอาจเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ผู้ซื้อชาวจีนให้ความสนใจผลผลิตของเรา” รองประธานสมาคมกาแฟเมียนมากล่าว

           ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมกาแฟระบุว่า เป้าหมายติดประเทศ “ท็อป 10” ของผู้เพาะปลูกและส่งออกกาแฟอาจจะยากลำบากสำหรับเมียนมา แต่มีความเป็นไปได้ที่เมียนมาจะติดโผ “ท็อป 20” โดยปัจจุบันมีการประเมินว่ามีพื้นที่ปลูกกาแฟประมาณ 80,000 เอเคอร์ ทั่วประเทศเมียนมา และคาดว่ารัฐบาลจะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกสำหรับผู้ปลูกรายใหม่ด้วย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  www.prachachat.net

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

sendLINE

Comment