สถานการณ์เศรษฐกิจเวียดนาม และการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม

1.7K



 

สถานการณ์เศรษฐกิจเวียดนาม และการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม

            นาง Eugenia Victorino ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของกลุ่มธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (Australia and New Zealand Banking Group: ANZ) ประจำสาขาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ปรับการประเมิน GDP ของเวียดนามในปี 2560 จากเดิมร้อยละ 6.5 เป็นร้อยละ 6.7 และมั่นใจว่าGDP ของเวียดนามอาจขยายตัวสูงกว่าคาดการณ์ เนื่องจากการส่งออกเติบโตดีขึ้น ทั้งนี้ ธนาคาร ANZ ยังคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของ GDP ของเวียดนามในปี 2561 อาจจะอยู่ที่ร้อยละ 6.8

                สำหรับอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามในปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 และคาดว่า ในปี 2561 จะยังคงเดิม อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้ออาจขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบโลกด้วย ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยจะยังค่อนข้างนิ่ง และการอ่อนค่าของเงินอยู่ในระดับต่ำ เพราะได้แรงสนับสนุนจากการได้ดุลการค้า และนโยบายการเก็บสะสมเงินตราต่างประเทศ ซึ่งธนาคาร ANZ คาดการณ์ว่า ในช่วงปลายปี 2561 อัตราแลกเปลี่ยนเงินเวียดนามต่อดอลลาร์สหรัฐอาจอยู่ที่ 22,900 ด่งต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

                ในด้านการลงทุนจากต่างประเทศ ธนาคาร ANZ เห็นว่า เวียดนามเปรียบเสมือนกับแม่เหล็กที่มีแรงดึงดูดแหล่งทุน เนื่องจากในปี 2560 อุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนามเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่ายังคงเติบโตสูงขึ้นอีกในอนาคต โดยมีสาเหตุมาจากสิทธิประโยชน์ในการลงทุน  ความตกลงการค้าเสรี และการลงทุนสู่ภาคการศึกษา ส่งผลให้สัดส่วนแรงงานที่มีทักษะ และสัดส่วนคนงานที่อ่านออกเขียนได้สูง ธนาคาร ANZ ยังประเมินว่า การลงทุนจากต่างชาติในเวียดนามอาจมีความเปลี่ยนแปลงในสาขาอุตสาหกรรม โดยผู้ลงทุนต่างชาติจะหันการลงทุนสู่สาขาการไฟฟ้าและน้ำ แทนที่เน้นลงทุนเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมแปรรูป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุด

                ปัญหาหนี้เสียของเวียดนามในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีสัญญาณที่ดี โดยการเติบโตของสินเชื่อในเดือนสิงหาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 19 อัตราดังกล่าวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 15 จึงเห็นว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อชะลอตัวลงและกำลังถูกควบคุม อย่างไรก็ตาม ธนาคาร ANZประเมินว่า หนี้เสียของเวียดนามเป็นหนี้เสียที่มีโครงสร้างและมีระบบตามเศรษฐกิจ ขณะที่เวียดนามพยายามสร้างอัตราการเติบโตแก่เศรษฐกิจ หนี้เสียก็เป็นปัญหาที่เกิดคู่กัน ดังนั้น ธนาคาร ANZ จึงเห็นว่า เวียดนามไม่ควรแก้ปัญหาหนี้เสียเร็วเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยสิ่งสำคัญคือ เวียดนามต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะให้สัดส่วนหนี้เสียอยู่ในอัตราใด ซึ่งธนาคารแห่งชาติเวียดนามกำลังออกข้อกำหนดต่างๆ เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาหนี้เสียให้ดีขึ้น

 

ขอขอบคุณที่มาข่าวจาก : www.globthailand.com

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

       

 

sendLINE

Comment