อัพเดทร่างกฎหมายการลงทุนเมียนมา

1.5K



อัพเดทร่างกฎหมายการลงทุนเมียนมา

            กรมบริหารการลงทุนและบริษัทของเมียนมา (Directorate of Investment and Company Administration: DICA) ด้วยความช่วยเหลือจาก Asian Development Bank (ADB) ได้ยกร่างกฎหมาย Myanmar Companies Act ฉบับใหม่ ปรับปรุงจากฉบับเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

(1) บริษัทต่างชาติไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตดำเนินการค้าจาก DICA (2) บริษัทต่างชาติสามารถซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งได้ (3) ร่างกฎหมายฉบับใหม่ลดเงื่อนไขการดำเนินธุรกิจให้แก่บริษัทขนาดเล็ก และบริษัทที่บริหารจัดการโดยครอบครัว (4) เพิ่มมาตรฐานด้านบรรษัทภิบาล (corporate governance) (5) ปรับโครงสร้างของบริษัทต่างชาติให้ชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นได้เกินร้อยละ 35 เพื่อส่งเสริมให้บริษัทท้องถิ่นได้รับทุนจากต่างประเทศและความเชี่ยวชาญจากบุคลากรต่างชาติมากขึ้น

           โดยขณะนี้ ร่างกฎหมาย 4 ฉบับ เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาได้เสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว เพื่อส่งเสริมการลงทุนและนวัตกรรมจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในระหว่างนี้หน่วยงานเมียนมายังสามารถจัดการกับสินค้าปลอมแปลงได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายใต้รัฐธรรมนูญเมียนมา

           กฎระเบียบการลงทุน (Investment rules) 2560 กำหนดให้คณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา (Myanmar Investment Commission: MIC) พิจารณานักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในเมียนมาจากภูมิหลังของชื่อเสียงและความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ โดย MIC มีอำนาจที่จะปฏิเสธข้อเสนอโครงการลงทุน หากนักลงทุนไม่ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามนโยบายการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเมียนมา รวมทั้งไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน หรือการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม

           ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2560 ไทยมีการลงทุนเป็นอันดับ 3 ของเมียนมา โดยมีโครงการลงทุนทั้งหมด 112 โครงการ มูลค่ากว่า 11,013.026 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท รองจากจีนและสิงคโปร์ 

ที่มาข่าวจาก : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง , http://globthailand.com/myanmar_0012/
ภาพประกอบ : http://cromwellmgt.ca/wp-content/uploads/2017/02/lease-sign-cromwell.jpg


banner ลงทะเบียน PinGs ครั้งที่ 31 ที่ ร.ร.เมเปิล โซนชลบุรี 19 ม.ค. 61

sendLINE

Comment